Golden Dreams TMS&Herb

วันศุกร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2553

สมุนไพรกับโรคและสรรพคุณ

สมุนไพรกับโรค


การแพทย์แผนไทย ทางออกในการรักษาโรคมะเร็ง

มะเร็งเป็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังแสวงหาทางเลือกในการดูแลรักษา เป็นสาเหตุการตายอันดับ ๓ รองจากโรคหัวใจและอุบัติเหตุ นับเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ต้องรีบแก้ไข มีงานวิจัยมากมายที่แสดงว่าร้อยละ ๙0 ของมะเร็งสามารถป้องกันและรักษาได้

ขอสรุปที่ว่า ร่างกายคนเรามีเซลล์มะเร็งเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่เราเอาชนะและไม่ป่วย เป็นมะเร็งเพราะ ร่างกายมีความต้านทานที่แข็งแกร่งด้วยระบบภูมิคุ้มกันที่สามารถต่อสู้ได้ ดั้งนั้นระบบภูมิคุ้มกันที่ถูกทำลายด้วยวิธีต่างๆล้วนเป็นสาเหตุ สำคัญที่ก่อมะเร็ง ได้แก่ การกินอาหาร ที่ไม่ครบถ้วนไม่สะอาดและเต็มไปด้วยสารพิษ สารก่อมะเร็ง การไม่ออกกำลังกาย การอยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ

ฉะนั้นถ้ามีพฤติกรรมสุขภาพโดยเฉพาะการเลือกรับประทานอาหารก็จะช่วยป้องกันโรคนี้ได้บ้างเช่น รับประทานอาหารที่มีเส้นใย (Fiber) มาก และมีข้อสรุป สำหรับเลือกบริโภคอาหารโดยหลัก ๔ ล. คือ

๑. ลด อาหารไขมันจากสัตว์
๒. เลิก อาหารกระป๋อง อาหารที่มีสีสังเคราะห์และสารเคมี เช่น สารกันบูดเจือปน สีที่ไม่ใช่สีผสมอาหาร
๓. เลี่ยงอาหารปิ้ง ย่าง อบ รมควัน
๔. ลุ้น อาหารสด ผัก ผลไม้ อาหารสมุนไพร ที่ปลอดสารพิษ

ทางเลือกในการรักษาโรคมะเร็ง

การรักษาโรคมะเร็งควรควรใช้หลายวิธีร่วมกันทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทย รวมทั้งคำนึงถึงสภาพจิตใจของผู้ป่วยและญาติด้วย เมื่อทราบแน่ชัดจากการตรวจของแพทย์แผนปัจจุบัน ว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งแล้ว ไม่ควรปิดกั้นการรักษาของผู้ป่วย หากจะเลือกแผนปัจจุบันร่วมกับแผนไทย แต่วิธีที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดกับผู้ป่วย คือ เมื่อตรวจร่างกายแน่ชัดว่าเป็นมะเร็งแล้ว ควรรักษากับแพทย์แผนปัจจุบันก่อน เพราะการเป็นมะเร็งระยะแรกๆ รักษาหายขาดได้ ส่วนการจะเลือกรักษาโดยแผนไทยนั้นไม่ควรตัดสินใจเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ควรรักษาควบคู่กันกับแผนปัจจุบัน และควรให้แพทย์แผนปัจจุบันตรวจรักษาอย่างสม่ำเสมอ การใช้สมุนไพรและการใช้ทางเลือกอื่นนั้น จะเป็นการประคับประคองด้านภูมิต้านทานและด้านจิตใจ เช่นการใช้สมาธิ เป็นต้น

การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การพักผ่อนเพียงพอ จะทำให้มีสุขภาพแข็งแรง เป็นการป้องกันโรคได้ทางหนึ่ง
การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง

การดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งมีความสำคัญยิ่ง เพราะภาวะทางกาย จิตใจ และอารมณ์ของผู้ป่วยจะถูกกระทบกระเทือนมากภาวะทุกข์ทรมานได้แก่อาการเจ็บปวดอาการกระสับกระส่าย กลืนอาหารลำบาก คลื่นไส้อาเจียนซึมเศร้า นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร เป็นต้น

องค์ความรู้ด้านแพทย์แผนไทยสามารถนำมาใช้ในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ตั้งแต่การเลือกรับประทานอาหารตามธาตุ การใช้ยาสมุนไพร บำบัดอาการข้างต้น ตลอดจนการนวดแผนไทยและการทำสมาธิ เพื่อบำบัดอาการปวด ซึมเศร้า นอนไม่หลับ เป็นต้น หลักการดังกล่าวถ่ายทอดให้ผู้ป่วยนำไปประพฤติปฏิบัติที่บ้านได้

สมุนไพรต้านมะเร็ง

ผู้ป่วยโรคมะเร็งควรรับประทานผักผลไม้ให้ได้เพราะผักผลไม้หลายชนิดจะมีคุณสมบัติเป็นตัวกำจัดอนุมูลอิสระ (แอนตี้ออกซิแดนท์) และสารที่ฆ่าเซลล์มะเร็งได้ ในวันหนึ่งๆ ควรได้ผัก ๒๕-๓0% ผลไม้ ๑0% เนื้อปลาหรือถั่ว ๑0% อีก ๕0% ควรเป็นข้าวกล้อง หรือเผือกมัน ผักและผลไม้ ควรปรุงรูปแบบธรรมดา เช่น ต้ม ลวก แกงหรือรับประทานดิบ ไม่ควรเติมน้ำตาล น้ำผึ้ง เกินความจำเป็น เพราะจะทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาลมากเกินไป

รายชื่อ ผัก ผลไม้ ที่ควรบริโภคมีดังนี้

สมุนไพรที่มีสารต้านเซลล์มะเร็ง ได้แก่ มะกรูด ผักแขยง ขึ้นฉ่าย บัวบก ผักชีฝรั่ง กระชาย ข่าใหญ่ มันเทศ ใบมะม่วง มะกอก เบญจมาศ แขนงกะหล่ำ แตงกวา พริกไทย ดีปลี โหระพา กะเพรา ใบตะไคร้ ถั่ว ผักแว่น ผักขวง เพกา ช้าพลู ลูกผักชี เร่ว เหงือกปลาหมอ ขมิ้นอ้อย หัวหอมแดง หอมหัวใหญ่ กระเทียม ฯลฯ

สมุนไพรที่มีสารแอนตี้ออกซิแดนท์ (วิตามิน เอ ซี อี)

-วิตามินเอสูง ได้แก่ ใบยอ ใบย่านาง ตำลึง ผักกูด มะระ กระสัง ผักแพว ผักชีลาว ผักแว่น ผักบุ้ง เหลียงกระเจี๊ยบแดง แมงลัก ชะอม พริกชี้ฟ้าแดง แพงพวย ขี้เหล็ก ฯลฯ

-วิตามินซีสูง ได้แก่ มะขามป้อม ฝรั่ง มะปราง ขนุน ละมุด มะละกอ มะกอก ส้ม มะขาม ลูกหว้า พุทรา ฯลฯ

-วิตามินอีสูง ได้แก่ พวกธัญพืชต่างๆ เช่นงาดำ ข้าวซ้อมมือ จมูกข้าว ข้าวโพด ฯลฯ

-เบ้ต้าแคโรทีนสูง ได้แก่ แครอท ฟักทอง แค กะเพรา แพชั่นฟรุต ขี้เหล็ก ผักเชียงดา ยอดฟักข้าว ผักแซ่ว ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาของถาบันวิจัยมะเร็งของสหรัฐอเมริการพบว่าผู้ที่ไม่ได้รับประทานกานกระเทียมเลย มีโอกาสเป็นมะเร็งในกระเพาะอาหารมากกว่าผู้ที่รับประทานปริมาณมากกว่าผู้ที่รับประทานในปริมาณมากอยู่เสมอถึง ๑,000 เท่า เนื่องจากในกระเทียมมีสารสำคัญที่จะไปยับยั้งกระบวนการเปลี่ยนแปลงไปเป็นสารก่อมะเร็งของไนเตรต ซึ่งคนได้รับจากอาหารและผักบางชนิด

ภาวะผิดปกติของธาตุในร่างกาย

จากการที่นักวิชาการค้นพบว่า ตัวการที่ทำให้ร่างกายมนุษย์ทรุดโทรม แก่ และความต้านทานบกพร่อง เกิดโรคต่างๆ รวมทั้งมะเร็ง ล้วนแต่เกิดจากการประพฤติปฏิบัติของมนุษย์เอง ที่ทำให้เกิดอนุมูลอิสระมากขึ้น เกิดกระบวนการออกซิเดชั่นในร่างกายจนเสื่อมในที่สุด

คนไทยแต่โบราณมิได้รู้รายละเอียดปฎิกริยาภายในเหล่านี้ เขารู้เพียงว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และนำสมุนไพรมาปรุงแต่งรับประทานในรูปอาหารและยาแล้วอาการดีขึ้น ลองผิดลองถูก จนสรุปเป็นทฤษฎีการปรับธาตุทั้ง ๔ คือธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ โดยนำสมุนไพร ๙ ชนิด ได้แก่ ดีปลี ช้าพลู สะค้าน เจตมูลเพลิงแดง ขิง พริกไทย สมอไทย สมอพิเภก และมะขามป้อม มาปรุงเป็นยาปรับธาตุทั้ง ๔ ใช้รักษา เมื่อธาตุนั้นๆ มีอาการพิการ (ผิดปกติ) กำเริบ (มากเกินไป) หย่อน (น้อยไปหรือไม่สมบูรณ์) และยาปรับธาตุตามฤดูกาล ตัวอย่างเช่น
-ดินพิการ หมายถึง สภาพผิดปกติของอวัยวะที่แสดงออก เช่น ผิวหนังมีผื่น ตุ่ม เน่า เปื่อย เป็นแผล อวัยวะภายใน เช่น ตับเป็นฝี อักเสบ
-น้ำกำเริบ คือ การมีน้ำมากเกินไป น้ำมูกไหลทั้งวัน ท้องเดิน บวม ความดันโลหิตขึ้นสูง มีน้ำในกระแสเลือดมาก
-ไฟหย่อน คือ ภาวะที่ความร้อนในตัวน้อย รู้สึกเยือกเย็น หนาวสั่น ถ้าไฟย่อยอาหาร น้อยไป ก็จะท้องอืดเฟ้อ อาหารไม่ย่อย
-ลมหย่อน คือ ภาวะพลังแห่งการเคลื่อนไหวน้อยไป

ตัวอย่าง ยาแก้ธาตุไฟหย่อนมี ส่วนชองตัวยาดังนี้

-รากเจตมูลเพลิง หนัก ๑๖ ส่วน
-เหง้าขิงแห้ง หนัก ๘ ส่วน
-ลูกเสมอพิเภก หนัก ๔ ส่วน
-เถาสะค้าน หนัก ๓ ส่วน
-รากช้าพลู หนัก ๒ ส่วน
-ดอกดีปลี หนัก ๑ ส่วน

สำหรับยาปรับธาตุตามฤดูกาล มีดังนี้

๑. ตรีผลา ได้แก่ ลูกเสมอพิเภก ลูกเสมอไทย ลูกมะขามป้อม ยาประจำฤดูร้อน สมุนไพร ๓ ชนิดนี้มีวิตามินสูงมากและปลอดภัยและมีสารแอนตี้ออกซิแดนท์
๒. ตรีกฏุก ได้แก่ เหง้าขิงแห้ง เมล็ดพริกไทย ดอกดีปลี ยาประจำฤดูฝน สมุนไพร ๓ ชนิดนี้ปลอดภัยเช่นกัน และแต่ละชนิดเป็นพืชผักสวนครัวอยู่แล้ว
๓. ตรีสาร ได้แก่ รากเจตมูลเพลิง เถาสะค้าน รากช้าพลู ยาประจำฤดูหนาว ช้าพลูมีฤทธิ์เป็นแอนตี้ออกซิเดชั่น ส่วนสะค้านและเจตมูลเพลิงแดงเป็นยารสร้อน เมื่อนำ ๓ ชนิดมารวมกันก็ไม่เป็นอันตราย เจตมูลเพลิงแดงยังมีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งด้วย

ยาเบญจกูล

ดอกดีปลี รากช้าพลู เถาสะค้าน รากเจตมูลเพลิงแดง เหง้าขิงแห้ง ในยาเบญจกูล มีช้าพลู ขิง เป็นแอนตี้ออกซิแดนท์คือตัวยับยั้งการเกิดออกซิเดชั่นในร่างกาย เจตมูลเพลิงแดงมีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็ง
จะเห็นได้ว่า ทั้งยาเบญจกูล ตรีผลา ตรีกฏุก ตรีสารเป็นยาที่จัดหมวดไว้สำหรับหมอแผนโบราณ ใช้ประกอบกระสายยาอื่นๆ มีสูตรยาเป็นจำนวนมาก จะมียาเหล่านี้ประกอบด้วยเสมอ ยาเหล่านี้สามารถใช้ได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยเรื้อรังที่สิ้นหวัง เช่น มะเร็งระยะท้ายๆ หากท่านผู้สนใดสนใจควรปรึกษาหมอโบราณ หรือสถาบันการแพทย์แผนไทยในการจัดเตรียมยาเหล่านี้ให้ถูกขนาด ถูกวิธีสรุปแล้วการใช้ยาสมุนไพรทั้ง ๙ ชนิดนี้ล้วนมีคุณประโยชน์ในการป้องกันการเกิดและการขยายตัวของมะเร็ง และยังฆ่าเซลล์ได้บางชนิด สมควรที่จะได้นำไปวิจัยเพิ่มเติมต่อไป

สมุนไพรไทยและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่แสดงฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็ง

พืชสมุนไพร บวบขม จำปีป่า ปลาไหลเผือก ทองพันชั่ง เจตมูลเพลิงแดง ราชดัด ฝาง แสมสาร ติงตัง ขมิ้นต้น ฟ้าทะลายโจร กระเทียม ประยงค์ รงทอง ข่อย ขมิ้นชัน แกแล สมอไทย ขันทองพยาบาท เครือเถาวัลย์ ดองดึง โล่ติ้น เจตมูลเพลิงขาว มังคุด โทงเทง ทับทิม จำปา ไพล ปรู จำปีหลวง พลับพลึง สบู่ดำ แพงพวยฝรั่ง สีเสียด กะเม็ง สมอพิเภก

สมุนไพรกับโรคความดันโลหิตสูง

สมุนไพรในการรักษาโรคความดันโลหิตสูงยังไม่มีผลงานวิจัยเด่นชัดว่า รักษาโรคความดันโลหิตสูงได้ ในตำราไทยนั้นจะเน้นการป้องกันไม่ให้เกิดโรค โดยนำสมุนไพรมาใช้ปรุงเป็นอาหาร โดยแบ่งกลุ่มสมุนไพรที่มีสรรพคุณตามกลุ่มอาการดังนี้

สรรพคุณสมุนไพรในการขับปัสสาวะ

ในการรักษาโรคความดันโลหิตสูงจะต้องได้รับการควบคุมดูแลจากแพทย์แผนปัจจุบัน และในการนำสมุนไพรมาใช้ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงจะต้องระมัดระวัง และจะต้องตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอจากแพทย์แผนปัจจุบัน สมุนไพรที่ใช้ขับปัสสาวะมีดังนี้

-หญ้าหนวดแมว ในใบของหญ้าหนวดแมวจะมีเกลือโปตัสเซียมปริมาณ o.๗–o.๘% ใช้ใบอ่อนเป็นยาขับปัสสาวะที่มีประสิทธิภาพสูง เนื่องจากเกลือโปตัสเซียมในใบอ่อนจะมีปริมาณสูงตามตำรายาไทยใช้แก้โรคปวดตามสันหลังและเอว ใช้ขับนิ่วและลดความดันโลหิตสูง

ข้อควรระวัง

๑. เนื่องจากหญ้าหนวดแมวมีเกลือโปตัสเซียมสูงจึงไม่ควรใช้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ
๒. ควรใช้การชง ไม่ควรใช้การต้ม และควรใช้ใบอ่อน เพราะใบแก่จะมีเกลือโปตัสเซียมละลายออกมามาก มีฤทธิ์กดหัวใจ ทำให้หายใจผิดปกติได้
๓. ควรใช้ใบตากแห้ง ถ้าใช้ใบสดจะมีอาการคลื่นไส้ และหัวใจสั่น
๔. ไม่ควรใช้หญ้าหนวดแมวคู่กับยาแอสไพริน เพราะจะทำให้ยามีฤทธิ์ต่อหัวใจมากขึ้น
๕. ก่อนการใช้ควรปรึกษาแพทย์แผนปัจจุบันและได้รับการดูแลอย่างสม่ำเสมอเพื่อความปลอดภัย

-หญ้าคา ในรากหญ้าคามีสารอะรันโดอิน และไซลินดรินทั้งกรดอินทรีย์หลายชนิด ตามตำรยาไทยใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา โดยต้นหญ้าคาขนาดสด ๔o-๕o กรัม (น้ำหนักแห้ง ๑o-๑๕ กรัม) หรือ ๑ กำมือ ต้มดื่มก่อนอาหารวันละ ๓ ครั้งๆ ละ ๑ ถ้วยชา (๗๕ มิลลลิตร)
-ขลู่ ในใบขลู่จะมีสารประกอบเกลือแร่ โซเดียมคลอไรด์ ตามตำรายาไทยใช้ทั้งต้นต้มกินเป็นยาขับปัสสาวะแก้อาการขัดเบา จากการศึกษา ทดลองในสัตว์ทดลองและในคนปกติพบว่ายาชงทั้งต้นของขลู่มีประสิทธิภาพขับปัสสาวะได้โดยใช้ทั้งต้นสดหรือแห้งวันละ ๑ กำมือ ดื่มวันละ ๓ ครั้งๆละ ๑ ถ้วยชา (๗๕ มิลลิลิตร) ก่อนอาหาร หรือใช้ใบแห้งครึ่งกำมือ คั่วให้เหลือง ชงน้ำดื่มแทนน้ำชา

หมายเหตุ การใช้สมุนไพรขับปัสสาวะทุกชนิด ต้องปรึกษาแพทย์แผนปัจจุบัน เนื่องจากการใช้ยาขับปัสสาวะเกินขนาดอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้

สรรพคุณสมุนไพรที่ช่วยลดไขมันในหลอดเลือด

ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูงเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง สมุนไพรที่สามารถลดระดับไขมันในหลอดเลือด มีดังนี้

๑. น้ำมันเมล็ดดอกคำฝอย จากการวิจัยในสัตว์ทดลองและในคนพบว่าน้ำมันเมล็ดดอกคำฝอย ช่วยทำให้ปริมาณโคเลสเตอรอลในเลือดลดลง และลดการอุดตันไขมันในหลอดเลือดได้
๒. กระเทียม มีสารอัลลิซินที่มีฤทธิ์ลดไขมันในหลอดเลือดได้ ซึ่งจะใช้กระเทียมประมาณ ๕-๗ กลีบ รับประทานหลังอาหารทุกมื้อ เป็นเวลา ๑ เดือน ปริมาณโคเลสเตอรอลในเลือดจะลดลง
๓. ถั่วเหลือง ในถั่วเหลืองจะมีกรดอะมิโน เลซิติน และวิตามินอีสูง จะช่วยลดระดับไขมันในหลอดเลือด

สรรพคุณสมุนไพรในการคลายเครียดนอนไม่หลับ

-ขี้เหล็ก ใบอ่อนและดอกมีสารจำพวกโครโมนและสารแอนตร้าควิโนน มีฤทธิ์เป็นยาระบาย จากการศึกษาในสัตว์ทดลอง โดยสกัดสารจากใบขี้เหล็กด้วยแอลกอฮอล์พบว่ามีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางของสัตว์ทดลอง และศึกษาโดยใช้กับผู้ป่วย ที่มีอาการกระวนกระวายนอนไม่หลับ พบว่าช่วยให้นอนหลับและระงับอาการตื่นเต้นทางประสาทได้แต่ไม่ใช่ยานอนหลับโดยตรง และไม่พบอาการเป็นพิษโดย ให้ใช้ใบขี้เหล็กแห้งหนัก ๓o กรัม หรือใบสดหนัก ๕o กรัม ต้มเอาน้ำดื่มก่อนนอน
-ระย่อมน้อย ในตำรายาไทยใช้รากระย่อมเป็นยาแก้ไข้ เจริญอาหาร ทำให้นอนหลับระย่อมมีฤทธิ์กล่อมประสาท มักใช้ผสมเป็นยาเจริญอาหาร เป็นยาที่ทำให้เจริญอาหารช่วยให้นอนหลับ ในการใช้เพื่อลดความดันโลหิต เนื่องจากในรากระย่อมมีแอลคาลอยด์ ที่สำคัญคือ เรเซอปิน ซึ่งมีฤทธิ์ลดความดันโลหิตได้ผลดี

หมายเหตุ การใช้ยาสมุนไพรในการลดความดันโลหิตจะต้องได้รับการตรวจการรักษาและคำแนะนำจากแพทย์แผนปัจจุบันเพื่อความปลอดภัย

สรุป การรักษาโรคความดันโลหิตสูงที่ดีก็คือ การกำจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค แต่เนื่องจากโรคความดันโลหิตสูงที่พบส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนและสลับซับซ้อนการใช้ยาสมุนไพรในการรักษาโรค จำเป็นต้องระมัดระวังในการเปลี่ยนหรือทดแทนยาแผนปัจจุบันเดิมควรปรึกษาแพทย์แผนปัจจุบันเป็นระยะ เพื่อความปลอดภัย

การปฏิบัติเพื่อป้องกันการเกิดโรค เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ

๑. การรับประทานอาหารที่มีไขมันน้อย เช่น ปลา ผัก ผลไม้ อาหาร สมุนไพรไม่รับประทานอาหารรสเค็มจัด
๒. การออกกำลังกายสม่ำเสมอ
๓. การพักผ่อนให้เพียงพอ
๔. ตรวจร่างกายประจำทุกปี

สมุนไพรกับโรคเบาหวาน

การควบคุมโรคเบาหวาน  โรคเบาหวานเกิดจากการที่ร่างกายมีฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอที่จะนำน้ำตาลในกระแสเลือดไปใช้เป็นประโยชน์ได้ ทำให้น้ำตาลในเลือดมีระดับสูงกว่าปกติ และถ้าสูงมากก็จะขับออกมากับปัสสาวะเมื่อเป็นโรคนี้แล้วจะส่งผลต่ออวัยวะหลายส่วน เช่น ตา ไต หัวใจ ประสาท และเป็นแผลเรื้อรัง หมดความรู้สึกทางเพศ

เบาหวานเป็นโรคเรื้อรังรักษาไม่หายขาดแต่ผู้ป่วยจะดำรงชีวิตเป็นปกติสุขได้โดยปฏิบัติดังนี้
๑. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารโดย 
     ลด   - การกินน้ำตาล อาหารที่มีน้ำตาล มีกะทิ อาหารทอด เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
     ใช้   - น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลืองแทนน้ำมันหมู น้ำมันมะพร้าวในการปรุงอาหาร กินปลาและ
               เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ผลไม้ที่ไม่หวานจัด กินผักมากๆ และข้าวซ้อมมือไม่เกินมื้อละ ๓ ทัพพี
     เลิก - สูบบุหรี่
๒. ควบคุมน้ำหนักตัวให้ปกติ

๓. ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ ๓ วันๆ ละไม่ต่ำกว่า ๒o นาที
๔. ปฏิบัติตนตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

ยาแผนปัจจุบันสำหรับโรคเบาหวานมีราคาแพง

ซึ่งเป็นภาระหนักของผู้ป่วยที่ยากจนฉะนั้นการใช้สมุนไพรจึงเป็นทางเลือกทางหนึ่ง สมุนไพรที่ประชาชนทั่วไปใช้รักษาเบาหวานด้วยตัวเอง โดยใช้ตามคำบอกเล่าจากบุคคลใกล้ชิด ส่วนใหญ่มักมีรสขม เช่น บอระเพ็ด มะระไทย ฟ้าทะลายโจร ฯลฯ ซึ่งใกล้เคียงกับหลักการทางทฤษฎียาไทยที่ว่า รสขมเพื่อดีและโลหิต แต่ก็มีบางชนิดที่ไม่มีรสขม แต่มีผู้ใช้ได้ผลกันมาก ได้แก่ ว่านหางจระเข้ แมงลัก กระเทียม หญ้าหนวดแมว เป็นต้น

สมุนไพรที่กล่าวถึงนี้ มีนักวิทยาศาสตร์สนใจทดลองมาก สรุปคร่าวๆ เป็น ๔ กลุ่ม คือ

๑. ใช้กันมากแต่ไม่มีผู้ทำการทดลอง ได้แก่ บอระเพ็ด
๒. ผลการทดลองในสัตว์ ไม่แสดงฤทธิ์ในการลดน้ำตาล แต่ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยยืนยันว่ารักษาเบาหวานได้จริงได้แก่ อินทนินน้ำ และฟ้าทะลายโจร
๓. จากการทดลองในสัตว์พบว่า ลดน้ำตาลได้จริง ได้แก่ มะระไทย ตำลึง กระเทียม ฝรั่ง มะแว้งต้น มะแว้งเครือ ลูกใต้ใบและหญ้าใต้ใบ
๔. การทดลองในมนุษย์ยังสรุปไม่ได้ว่าสามารถใช้แทนยาปัจจุบัน แต่น่าสนใจที่จะใช้เสริมในการรักษาได้แก่ว่านหางจระเข้ แมงลัก หอมใหญ่ หญ้าหนวดแมว สำหรับบอระเพ็ดนั้น ได้ทดลองใช้กับคนไข้ที่เป็นเบาหวานมาหลายปี ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ระหว่าง ๒oo-๓oo มิลลิกรัม มีอาการเวียนศรีษะ อ่อนเพลีย เป็นประจำ โดยให้บอระเพ็ดแคปซูลกินครั้งละ ๒ เม็ด วันละ ๓ ครั้ง เรื่อยไป อาการอ่อนเพลีย เวียนศรีษะหายไป จากที่เคยมีระดับน้ำตาลในเลือดถึง ๔+ ปรากฏว่าน้ำตาลในปัสสาวะไม่มี แม้ว่าผลการทดลองสมุนไพรต่างๆ สำหรับเบาหวานยังไม่สามารถสรุปลงไปได้ว่า มีสมุนไพรตัวใดที่จะใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบันได้ หนทางการใช้สมุนไพรในกลุ่มนี้ก็ยังไม่ได้มืดมนเสียทีเดียว ถ้าแพทย์และผู้ป่วยให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน โดยยินยอมให้ผู้ป่วยที่สมัครใจใช้สมุนไพรควบคู่กับยาแผนปัจจุบันอาจเลือกใช้สมุนไพรอย่างง่ายๆ เช่น ใช้พืชที่เป็นอาหารอยู่แล้ว หรือที่ใช้กันมานานโดยไม่มีอันตราย โดยแพทย์ควบคุมปริมาณการใช้ยาแผนปัจจุบันอย่างใกล้ชิดในช่วงแรก ย่อมทำให้เกิดกำลังใจแก่ผู้ป่วยที่มา: ชุมนุมแพทย์แผนไทยและสมุนไพรแห่งชาติ

สรุปรายชื่อสมุนไพร ที่ควรใช้ในรูปอาหารกับโรคเบาหวาน ได้แก่


บอระเพ็ด มะระไทย ลูกใต้ใบ หญ้าใต้ใบ  มะแว้งเครือ มะแว้งต้น ตำลึง ฟ้าทะลายโจร สะตอ ว่านหางจระเข้ แมงลัก อินทนินน้ำ หอมใหญ่ กระเทียม หญ้าหนวดแมว เตยหอม ฝรั่ง ช้าพลู ขี้เหล็ก สะเดา
ผักบุ้ง สัก กำแพงเจ็ดชั้น มวกแดง-ขาว ชะเอมไทย รากลำเจียก รากคนทา


หมายเหตุ การรักษาโรคเบาหวาน ควรปรึกษาแพทย์แผนปัจจุบัน เพราะการใช้ยาลดระดับน้ำตาลร่วมกับยาแผนปัจจุบันอาจจะทำให้น้ำตาลลดลงมากเกินไป เป็นอันตรายได้ จึงแนะนำให้ใช้สมุนไพรในรูปของการปรุงอาหารในชีวิตประจำวัน


สมุนไพรกับโรคเอดส์


เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันมีการระบาดอย่างรุนแรงของเชื้อไวรัสHIVอันนำมาสู่สภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เมื่อได้รับเชื้อไวรัสแล้วภูมิคุ้มกันโรคของผู้นั้นจะเสื่อม ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ จนเสียชีวิตในที่สุด
วงการแพทย์ทั่วโลกต่างก็แสวงหาวิธีรักษาโรคร้ายนี้กันอย่างกว้างขวาง แต่ก็ยังไม่พบวิธีหรือยาที่จะฆ่าเชื้อเอดส์ได้ ทางเลือกอีกทางหนึ่งคือ ยาสมุนไพร ในประเทศไทยมีหลายหน่วยงานที่ดำเนินการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับยาสมุนไพรสำหรับโรคเอดส์ เช่น สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ สถาบันการแพทย์แผนไทย ฯลฯ ทางด้านประชาชนก็มีการทดลอง อีกทั้งพระภิกษุ หมอพื้นบ้าน ได้พยายามนำสมุนไพรมารักษาผู้ป่วยกันหลายราย
การค้นคว้าเน้นไปที่การหายาฆ่าเชื้อเอดส์ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องแก้ ปัญหาโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้แก่ เป็นไข้ ไอ ท้องเสีย โรคเริม ปากเป็นแผล ติดเชื้อราต่างๆ ผู้ป่วยสามารถ เลือกใช้ยาสมุนไพรตามอาการของโรคที่แทรกซ้อนได้ สมุนไพรเหล่านี้ไม่ได้เป็นยารักษาโรคเอดส์โดยตรง แต่ก็บรรเทาอาการของโรคได้
รายงานการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับ สมุนไพรรักษาโรคเอดส์ มีการศึกษาเกี่ยวกับสมุนไพรหลายชนิด


Trichosanthes kirilowii


ซึ่งมีชื่อสามัญว่า Chinese snake guard พืชสกุลนี้ในเมืองไทยมีหลายชนิดได้แก่ บวบงู ขี้กาขาว ขี้กาแดง หรือกระดึงช้างเผือก ขี้กาดิน
การศึกษาวิจัยพืชนี้ในการรักษาโรคเอดส์ส่วนใหญ่ทำในสาธารณรัฐประชาชนจีนแต่ได้มีรายงานจากสหรัฐอเมริกา ในปี ๑๙๘๙ โดย Mc. Grath ถึงการค้นพบโปรตีนจากรากของพืชนี้ ชื่อ Trichosanthin GLO 223 หรือ compound Q ซึ่งมีคุณสมบัติในการยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส HIV
แต่ก็มีผู้รายงานความเป็นพิษของ Trichosanthin เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูทดลองทำให้หนูตายครึ่งหนึ่งของจำนวนการทดลองขณะนี้เชื่อกันว่าถ้าให้รับประทาน Trichosanthin อาจไม่เกิดพิษ เช่นการฉีด Trichosanthin

โปรตีนจากระหุ่ง


แม้ว่าจะมีพิษ แต่ก็มีผู้พบว่าส่วนหนึ่งของโปรตีน Ricin ซึ่งเป็นพิษ คือ dg A สามารถจับ antibody ของ HIV ซึ่งทำให้ไปยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัส โดยมีผลต่อเซลล์ปกติเพียง ๑/๑,ooo ของเซลล์ที่มีไวรัส
การค้นพบนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นในการพบยาที่ป้องกันหรือยืดเวลาในการเกิดโรคเอดส์

Hypericum spp.


พืชสกุลนี้บ้านเรามี บัวทอง(Hypericum garrettii Craib) มีผู้สกัดสาร Hypericin และ Pseudohypericin จากพืชนี้ พบว่ามีฤทธิ์ป้องกันการขยายตัวของไวรัสเอดส์

Castanospermun australe


Tyms และคณะได้พบว่าแอลคาลอยด์ ๓ ชนิด มีผลยับยั้งเอนไซม์ที่ช่วยให้ไวรัสจับกับ T-cells ซึ่งสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย และแอลคาลอยด์ ที่ให้ผลดีที่สุดคือ Castanospermine จาก Castanospermum australe ไม้ยืนต้นของออสเตรเลีย และสารนี้มีพิษน้อย มีฤทธิ์ข้างเคียง เช่น น้ำหนักลด ท้องเสีย
ยังไม่มีสมุนไพรใดที่ใช้รักษาโรคเอดส์ได้จริงจัง ส่วนใหญ่ยังอยู่ระหว่างการทดลอง ซึ่งบางอย่างก็ทดลองโดยไม่ถูกกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตาม การศึกษาสมุนไพรก็เป็นแนวทางหนึ่งในการก็จะค้นพบยารักษาโรคนี้


อาหารสมุนไพรและอาหารหลัก ๕ หมู่สำหรับผู้ป่วยเอดส์


โดยปรัชญาการแพทย์แผนไทยแล้ว เน้นการรักษาแบบองค์รวม คือ ความสมดุลของร่างกายระหว่างธาตุ ภายใน และภายนอก โดยเชื่อว่าเมื่อร่างกายสมดุล ย่อมไม่เจ็บป่วย ผู้ติดเชื้อเอดส์ควรบริโภคอาหารสมุนไพรเสริมสร้างภูมิต้านทานเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและชลอความทรุดโทรมของร่างกาย
อาหารสมุนไพรที่ควรรับประทาน ได้แก่ เผือก เดือย กลอย มัน ถั่วต่างๆ งาดำ เมล็ดทานตะวัน ข้าวซ้อมมือ ข้าวโพด ฟักทอง หัวแครอท น้ำมันรำข้าว น้ำมันดอกคำฝอย นม กล้วยน้ำว้า มะละกอ ผักสีเขียว มะขามป้อม มะเขือเทศ ฝรั่ง ว่านหางจระเข้ น้ำผึ้ง มะกรูด เห็ดต่างๆ กระเทียม และเครื่องเทศทุกชนิด

บริโภคอาหารให้ครบ ๕ หมู่ ได้แก่


-โปรตีน มีอยู่ในตับ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว นม ไข่ เนื้อสัตว์ ปลา เป็นต้น
-คาร์โบไฮเดรต มีอยู่ในแป้งต่างๆ น้ำตาล ข้าว ขนมปัง เผือก มัน เป็นต้น
-วิตามิน มีอยู่ในผักใบเขียวทุกชนิด ฟักทอง มะเขือเทศ และผักอื่นๆ
-เกลือแร่ มีอยู่ในผลไม้ทุกชนิด เช่น กล้วย ส้ม มะละกอ ฝรั่ง สับประรด ฯลฯ
-ไขมัน มีอยู่ในน้ำมันจากพืชและสัตว์ เช่น น้ำมันหมู กะทิ น้ำมันงา ฯลฯ

การนำสมุนไพรมาใช้รักษาโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยเอดส์


-ใช้ยาสมุนไพรตามหลักทฤษฎีการปรับสมดุลของธาตุในคัมภีร์มหาพิกัดโดยผู้สั่งยานี้ต้องเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ
-ใช้ยาสมุนไพรตามตำรับยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ ๒๘ ขนาน ที่กระทรวงสาธารณสุขอนุญาต เพื่อใช้รักษาตามอาการ เช่น ยาจันทน์ลีลา (แก้ไข้)
-ใช้ยาสมุนไพรเดี่ยว รักษาตามอาการซึ่งอาจพบบ่อย ได้แก่
  สมุนไพรแก้ไข้ เช่น ฟ้าทะลายโจร บอระเพ็ด
  สมุนไพรแก้เริม เช่น เสลดพังพอนตัวเมียและตัวผู้
  สมุนไพรแก้ท้องเสีย เช่น กล้วยน้ำว้า ทับทิม ฝรั่งดิบ
  สมุนไพรแก้ไอ เช่น มะแว้ง ขิง มะนาว
  สมุนไพรแก้ท้องอืดเฟ้อ เช่น ขมิ้นชัน แห้วหมู กระชาย
  สมุนไพรแก้เชื้อรา เช่น กระเทียม ข่า ชุมเห็ดเทศ
  สมุนไพรช่วยให้นอนหลับได้ เช่น ใบขี้เหล็ก ดอกบัวหลวง หัวหอมใหญ่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น