Golden Dreams TMS&Herb

วันศุกร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2553

รายชื่อสมุนไพรไทยและสรรพคุณ

รายชื่อสมุนไพรไทย


***เหงือกปลาหมอ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acanthus ebracteatus Vah 1
วงศ์ : ACANTHACEAE
ชื่ออื่น : เหงือกปลาหมอ

ลักษณะพืช : ไม้พุ่ม ลำต้นกลมเรียบ มีหนามตามข้อ ข้อละ 4 หนาม ใบเดี่ยว ออกตรงข้าม ผิวเรียบเป็นมัน ขอบใบจักหยาบ ปลายแหลมคล้ายหนาม แต่อาจพบขอบใจเรียบก็ได้ ดอกสีขาว ผลรูปไข่สีเขียว พบขึ้นตามชายน้ำ ริมลำคลอง ที่ชุ่มชื้นทั่วไป

การใช้ในตำรายาแผนโบราณ : ทั้งต้นและเมล็ด - รักษาฝี แก้โรคน้ำเหลืองเสีย

***โมกเครือ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aganosma marginata G. Don
วงศ์ : APOCYNACEAE
ชื่ออื่น : มะเดื่อดิน เดื่อเครือ ย่านเดือยบิด ไส้ตัน

ลักษณะพืช : ไม้เถาเนื้อแข็ง มีน้ำยางขาว ใบเดี่ยว ออกตรงข้าม ตัวใบรูปขอบขนาน ผิวใบด้านบนเกลี้ยง หรือมีขนประปราย ด้านล่างมีขนสั้นๆ ช่อดอกออกตามปลายยอด หรือตามซอกใบ ดอกรูปกรวย ปลายแยก 5 แฉก สีขาว ผลเป็นฝักยาว ออกเป็นคู่ ฝักแก่จะแตก 2 ซีก มีเมล็ดรูปขอบขนาน ปลายด้านหนึ่งมีขนยาวมีขาว จำนวนมาก พบตามป่าละเมาะ เรีอกสวน ชอบที่ร่มชุ่มชื้น

การใช้ในตำรายาแผนโบราณ :

ใบ - แก้ริดสีดวง แก้เมื่อย แก้ผื่นคัน ขับปัสสาวะ
ราก - แก้โรคทางเดินปัสสาวะ ยาเจริญอาหาร ยาระบาย ขับระดู แก้ขัดเบา แก้ไตและตับพิการ แก้ไข้
ทั้งต้น – แก้ไข้

***ชะเอมป่า
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Albizia myriophylla Benth.
วงศ์ : LEGUMINOSAE
ชื่ออื่น : ชะเอมไทย ตาลอ้อย ส้มป่อยหวาน ย่านงาย

ลักษณะพืช : ไม้ยืนต้น ตามลำต้นและกิ่งก้านมีหนาม ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ใบย่อยมีขนาดเล็ก ที่โคนก้านใบมีต่อมใหญ่ 1 ต่อม ดอกอัดแน่นเป็นช่อกลม ออกตามปลายยอด ดอกมีขนาดเล็ก รูปกรวย ปลายแยก 5 แฉกเล็กๆ เกสรตัวผู้จำนวนมาก ยาวยื่นพันกรวยดอก ดอกมีกลิ่นหอม ผลเป็นฝักแบนยาว ปลายเรียว ฝักแก่สีน้ำตาล มีเมล็ด 5 - 8 เมล็ด พบตามป่าละเมาะ เชิงเขา ป่าชายทะเล

การใช้ในตำรายาแผนโบราณ :

ราก - แก้กระหายน้ำ เป็นยาระบาย
เนื้อไม้ - ขับเสมหะ แก้ไอ รักษาเลือดออกตามไรฟัน
ดอก – ช่วยย่อยอาหาร

***ผักเป็ดน้ำ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Alternanthera philoxeroides Griseb.
วงศ์ : AMARANTHACEAE
ชื่ออื่น : ผักเป็ด

ลักษณะพืช : พืชน้ำล้มลุก ลำต้นทอดคลาน หรือลอยเหนือน้ำ ลำต้นตอนล่างมีขนสีขาวตามซอกใบ ด้านข้างที่ตรงข้ามกัน 2 ด้านของลำต้น มีขนขึ้นเป็นแนว ส่วนอื่นๆเกลี้ยง ใบเดี่ยว ออกตรงข้าม ตัวใบรูปไข่หรือไข่กลับ ดอกออกเป็นช่อ ก้านช่อดอกยาว ดอกมีขนาดเล็กสีขาว อัดแน่นเป็นกระจุก พบทั่วไปตามแอ่งน้ำ หนอง บึง

การใช้ในตำรายาแผนโบราณ : ทั้งต้น - ขับน้ำนม แก้ไข้ ตำพอกแผล

***ผักเป็ดน้ำ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Alternanthera philoxeroides Griseb.
วงศ์ : AMARANTHACEAE
ชื่ออื่น : ผักเป็ด

ลักษณะพืช : พืชน้ำล้มลุก ลำต้นทอดคลาน หรือลอยเหนือน้ำ ลำต้นตอนล่างมีขนสีขาวตามซอกใบ ด้านข้างที่ตรงข้ามกัน 2 ด้านของลำต้น มีขนขึ้นเป็นแนว ส่วนอื่นๆเกลี้ยง ใบเดี่ยว ออกตรงข้าม ตัวใบรูปไข่หรือไข่กลับ ดอกออกเป็นช่อ ก้านช่อดอกยาว ดอกมีขนาดเล็กสีขาว อัดแน่นเป็นกระจุก พบทั่วไปตามแอ่งน้ำ หนอง บึง

การใช้ในตำรายาแผนโบราณ : ทั้งต้น - ขับน้ำนม แก้ไข้ ตำพอกแผล

***ถั่วลิสงนา
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Alysicarpus vaginalis (L.) DC.
วงศ์ : LEGUMINOSAE
ชื่ออื่น : คัดแซก หญ้าเกล็ดหอยใหญ่ หญ้าปล้องหวาย

ลักษณะพืช : ไม้ล้มลุก ลำต้นตอนโคนจะทอดนอน ปลายยอดตั้งตรง ลำต้นยาว 0.3 - 1.5 ม. ใบเป็นใบประกอบ มี 1 ใบย่อย ใบย่อยรูปไข่กว้าง หรือ ยาวรี ขนาด 0.3 - 1.3 ซม. กว้าง 0.2 - 0.6 ซม. หูใบตั้งตรงแผ่แบน มีหูใบย่อย 2 อันติดอยู่ที่โคนใบย่อย ดอกออกเป็นช่อตามปลายยอด และตามซอกใบ ดอกเล็กสีแดงคล้ำ ฝักเล็ก ยาวเรียวปลายแหลม ยาว 1.2 ซม. เริ่มแรกสีดำ ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีเขียวเหลือง ภายในมีเมล็ดสีเขียว 3 - 6 เมล็ด พบตามริมทาง สนามหญ้า ที่ว่างทั่วไป

การใช้ในตำรายาแผนโบราณ : ราก – แก้ไอ

***ผักขมหนาม
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Amaranthus spinosus Linn.
วงศ์ : AMARANTHACEAE
ชื่ออื่น : ผักโหมหนาม ปะตึ แม่ล้อคู่

ลักษณะพืช : พืชล้มลุก ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านมากมาย ลำต้นกลม ผิวเกลี้ยง ค่อนข้างอวบน้ำ ใบเดี่ยว ตามซอกใบและโคนช่อดอกจะมีหนามแหลม ดอกออกเป็นกระจุกตามซอกใบ และออกรวมเป็นช่อตามปลายยอด ดอกมีขนาดเล็กมาก ผลกลมขนาดเล็ก เมื่อแก่จะแตกตรงกลาง ภายในมีเมล็ดกลมค่อนข้างแบน 1 เมล็ด สีน้ำตาลผิวเรียบมัน พบตามที่ว่างรกร้าง ริมทาง เรือกสวนทั่วไป

การใช้ในตำรายาแผนโบราณ :

ทั้งต้น - ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ
ใบ - แก้บิด แก้บวมน้ำ
ราก - แก้โรคปวดตามข้อ ขับปัสสาวะ แก้หนองใน แก้ไข้

***รามใหญ่
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ardisia Littoralis Andr.
วงศ์ : MYRSINACEAE
ชื่ออื่น : ทุลังกาสา ลังพิสา

ลักษณะพืช : ไม้พุ่ม สูงถึง 4 ม. ใบเดี่ยว เรียงเวียนตัวใบรูปไข่กลับหรือรูปรี ขนาดยาว 9 - 15 ซม. กว้าง 2 - 5 ซม. ผิวใบเกลี้ยง เนื้อใบหนา ก้านใบสั้น ใบตามปลายยอดมีก้านใบสีแดง ดอกออกเป็นช่อตามปลายยอดและซอกใบ กลีบดอกสีชมพูอ่อน 5 กลีบ ดอกตูม กลีบดอกด้านหลังมีตุ่มสีน้ำตาล เมื่อดอกบาน ตุ่มจางหายไป เกสรผู้ด้านหลังมีตุ่มสีน้ำตาลเช่นกัน ผลกลมแป้นสีชมพูเข้ม เมื่อแก่สีดำ พบตามเรือกสวน ที่ร่มชุ่มชื้น ป่าละเมาะ ป่าเบญจพรรณ

การใช้ในตำรายาแผนโบราณ : ใบ – แก้ปวดบริเวณหน้าอก

***มะนาวผี
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Atalantia monophylla DC.
วงศ์ : RUTACEAE
ชื่ออื่น : มะลิว จ๊าลิว กรูดผี กรูดเปรย

ลักษณะพืช : ไม้พุ่ม กิ่งก้านตามยอดค่อนข้างเป็นเหลี่ยม มีหนาม 1 อัน ตามซอกใบ ใบเดี่ยวเรียงสลับ ตัวใบรูปไข่ ปลายใบหยักเว้า ดอกออกเป็นช่อ กลีบเลี้ยงแยก 2 แฉก ขนาดไม่เท่ากัน กลีบดอก 3 กลีบ เกสรผู้ 6 อัน ก้านเกสรผู้รวมกันเป็นหลอด ผลกลมขนาดเล็ก ผิวหนาคล้ายหนัง เมล็ดรูปไข่ พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าชายทะเลการใช้ในตำรายาแผนโบราณ : ใบ – ใช้ในโรคทางเดินหายใจ

***หนามพุงดอ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Azima sarmentosa Benth. & Hook.
วงศ์ : SALVADORACEAE
ชื่ออื่น : ขี้แฮด ปิ๊ดเต๊าะ พุงดอ

ลักษณะพืช : ไม้เถาเนื้อแข็ง ใบเดี่ยวออกตรงข้าม เนื้อใบหนา สีเขียวสดเป็นมัน ตัวใบมีรูปร่างหลายแบบ ที่โคนใบมีหนามแหลมเรียวยาว 2 อัน ดอกออกเป็นช่อ แตกเรียงกันหลายชั้น ดอกเล็ก ผลกลมสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีขาว ภายในมีเมล็ด 2 - 3 เมล็ด พบตามริมน้ำ ที่ลุ่มชื้นแฉะ แนวป่าละเมาะชายทะเลทั่วไป

การใช้ในตำรายาแผนโบราณ : ราก - ถอนพิษ แก้ไข้ ภายนอกใช้ฝนทาแก้พิษฝี

***เสลดพังพอน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Barleria Lupulina Lindl.
วงศ์ : ACANTHACEAE
ชื่ออื่น : พิมเสนต้น เช็กเชเกี่ยม ชองระอา

ลักษณะพืช : ไม้พุ่ม สูงถึง 2 ม. ใบเดี่ยวออกตรงข้าม ตัวใบเรียวยาว ด้านบนสีเขียวเข้ม เส้นใบสีแดง ด้านล่างสีจางกว่า ผิวใบเกลี้ยง ยาว 5 - 10 ซม. กว้าง 0.5 - 1.5 ซม. ก้านใบสั้น ตามซอกใบจะมีหนามแหลม 2 อัน ช่อดอกรูปทรงกระบอก ตั้งตรง หรือห้อยลง ยาว 3 - 9 ซม. กลีบดอกสีเหลืองยาว 2 - 4 ซม. กลีบรองดอกสีเขียวปลายยอดสีม่วง ผล ยาวประมาณ 1.5 ซม. พบทั่วไป นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ

การใช้ในตำรายาแผนโบราณ :

ใบ - พอกฝี แก้ช้ำบวม
ทั้งต้น - แก้พิษงู แก้ปวดฟัน
ราก - ฝนกับสุรา ทาถอนพิษงู ตะขาบ แมลงป่อง ผึ้ง ปลาแขยง

***อังกาบหนู
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Barleria prionitis Linn.
วงศ์ : ACANTHACEAE
ชื่ออื่น : เขี้ยวแก้ว เขี้ยวเนื้อ มันไก่

ลักษณะพืช : ไม้พุ่ม สูงถึง 1.5 ม. ใบเดี่ยว ออกตรงข้าม ตัวใบรูปไข่ปลายแหลม ยาว 2 - 17 ซม. กว้าง 0.5 - 6 ซม. ตามซอกใบจะมีหนามแหลม 3 - 5 อัน ดอกออกเดี่ยวๆ ส่วนตอนปลายยอดจะออกเป็นช่อ กลีบดอกสีเหลืองสด ยาว 2 - 5 ซม. ผลกลมแบน ปลายแหลม แข็ง ขนาด 1 - 2 ซม. ภายในมีเมล็ด 2 เมล็ด ขึ้นได้ดีในที่แล้ง นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ

การใช้ในตำรายาแผนโบราณ :

ทั้งต้น - ขับปัสสาวะ แก้ไขข้ออักเสบ แก้บวมน้ำ แก้ไข้
ใบ - แก้กลากเกลื้อน แก้ปวดฟัน น้ำคั้นทากันเท้าแตก หยอดหู แก้อักเสบ
เปลือก - แก้ไอกรน ขับเสมหะ ขับเหงื่อ แก้อาการบวมทั้งตัว
ราก – ทำยาแก้ฝี

***กระดุม
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Borreria articularis (L.f.) F.N. Williams
วงศ์ : RUBIACEAE
ชื่ออื่น : -

ลักษณะพืช : พืชล้มลุก ลำต้นและกิ่งก้านเป็นเหลี่ยม ใบเดี่ยว ออกตรงข้าม ตัวใบรูปไข่ เนื้อใบบาง มีขนทั้ง 2 ด้าน ดอกออกเป็นกระจุกตามซอกใบ ดอกมีขนาดเล็ก รูปกรวย ปลายแยก 4 แฉก กรวยดอกสีขาว กลีบดอกสีม่วงอ่อน ภายในกรวยดอกเหนือโคนกรวยดอกเล็กน้อย มีขนเรียงเป็นวงแหวน ผลเล็กรูปรี หรือที่น้ำขังแฉะทั่วๆไป

การใช้ในตำรายาแผนโบราณ :
ใบ - แก้ริดสีดวงทวาร
ราก - แก้ปวดฟัน
ลำต้นและใบ - เป็นส่วนผสมทำยาพอก แก้อุจจาระร่วง ทำยาชง แก้โรคนิ่วในไต นิ่วในถุงน้ำดี

***มะกา
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bridelia ovata Decne
วงศ์ : EUPHORBIACEAE
ชื่ออื่น : ก้องแกบ ขี้เหล้ามาดกา ซำซา มัดกา มาดกา ส่าเหล้า สิวาลา

ลักษณะพืช : ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงถึง 10 ม. ใบเดี่ยว เรียงสลับ ตัวใบรูปรีหรือรูปไข่กลับ ขนาดยาว 7 - 20 ซม. กว้าง 3 - 7 ซม. ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ก้านใบสั้น ดอกออกเป็นกระจุกตามซอกใบ ดอกเล็กดอกเพศผู้แลดอกเพศเมีย อยู่ในกระจุกเดียวกัน ผลเป็นผลสด รูปกลมขนาดเล็กพบตามป่าเบญจพรรณ ป่าชายทะเล

การใช้ในตำรายาแผนโบราณ :

ใบ - ขับเสมหะ
เปลือก – ฝาดสมาน

***ขนหนอน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bridelia tomentosa Bl.
วงศ์ : EUPHORBIACEAE
ชื่ออื่น : กระบือ สีฟันกระบือ มะแก สามพันตา

ลักษณะพืช : ไม้พุ่ม หรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ใบเดี่ยว เรียงสลับในระนาบเดียวกัน ตัวใบรูปรี หรือรูปไข่กลับ ปลายใบมนหรือแหลม ขนาดยาว 3 - 12 ซม. กว้าง 1 - 5 ซม. ผิวใบด้านหลังมีขนเส้นเล็กๆ ละเอียดปกคลุม ก้านใบสั้น ดอกออกเป็นกระจุกตามซอกใบ ดอกเล็ก มีดอกเพศผู้และเพศเมียในกระจุกเดียวกัน ผลรูปกลมขนาดเล็กสีเขียว ต่อมาเปลี่ยนเป็นดำ ภายในมี 2 เมล็ด พบตามที่ชุ่มชื้นริมน้ำ ป่าละเมาะ ป่าชายทะเล

การใช้ในตำรายาแผนโบราณ :

ใบ - ผสมกับพืชสมุนไพรชนิดอื่นแช่ (infused) เอาน้ำดื่ม แก้ปวดท้อง แก้ไข้ ปรุงยาต้ม แก้โรคลำไส้
ราก - เป็นยาภายหลังคลอด
ทั้งต้น – เป็นพิษ

***กระเจี๊ยบแดง

กระเจี๊ยบเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงราว 3-6 ศอก กิ่งก้านมีสีม่วงแดง ใบมีหลายรูป เช่น ขอบใบเรียบ หรือหยักเว้า 3 หยัก ดอกสีชมพู ตรงกลางจะมีสีเข้มกว่ากลีบส่วนนอก เมื่อกลีบดอกร่วง ใบประดับและกลีบเลี้ยงจะเจริญขึ้น มีสีม่วงแดงเข้มหุ้มผลไว้ภายใน มีเมล็ด ใช้ปลูก ปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย

ใบประดับและกลีบเลี้ยงของกระเจี๊ยบแดง รสเปรี้ยว ทำแยมหรือใช้เป็นสารแต่งสี ในเยลลี่ ใบอ่อนของกระเจี๊ยบเป็นผัก ใช้แกงส้ม กระเจี๊ยบเปรี้ยวมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ส้มพอเหมาะ" ใบประดับ กลีบเลี้ยงและใบมีรสเปรี้ยว ใช้เป็นยากัดเสมหะ

***กระชาย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Boesenbergia rotunda (L.) Mansf.
วงศ์ : Zingiberaceae
ชื่ออื่น : กะแอน จี๊ปู ซีฟู เปาซอเร๊าะ เป๊าสี่ระแอน ว่านพระอาทิตย์

ลักษณะ : เป็นไม้ล้มลุกไม่มีลำต้นบนดิน มีเหง้าใต้ดินซึ่งแตกรากออกไปเป็นกระจุกจำนวนมาก อวบน้ำ ตรงกลาลพองกว้างกว่าส่วนหัวและท้าย ใบ เดี่ยว เรียงสลับเป็นระนาบเดียวกัน รูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง 4.5-10 เซนติเมตร ยาว 13-15 เซนติเมตร ตรงกลางด้านในของก้านใบมีร่องลึก ดอก ช่อ ออกแทรกอยู่ระหว่างกาบใบที่โคนต้น กลีบดอกสีขาวหรือชมพูอ่อน ใบประดับรูปใบหอกสีม่วงแดง ดอกย่อยบานครั้งละ 1 ดอก

ประโยชน์ทางสมุนไพร : ตำรายาไทยใช้เหง้าแก้โรคในปากเช่นปากเปื่อย ปากเป็นแผล ปากแห้ง ขับระดูขาว ขับปัสสาวะ รักษาโรคบิด แก้ปวดมวนท้อง จากการทดลองในสารสกัดแอลกอฮอล์และคลอโรฟอร์ม พบว่ามีฤทธิ์ต้านเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังและในปากได้ดีพอควร

***กระทือ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Zingiber zerumbet (L.) Smith.
วงศ์ : Zingiberaceae
ชื่ออื่น : กระทือป่า กะแวน กะแอน แสมดำ แฮวดำ เฮียวดำ (ภาคเหนือ) เฮียวแดง (แม่ฮ่องสอน)

ลักษณะ : เป็นไม้ล้มลุก สูง 0.5 - 1 เมตร มีเหง้าใต้ดิน เปลือกนอกของเหง้าสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในสีเหลืองอ่อน กลิ่นหอม แทงหน่อใหม่เมื่อถึงฤดูฝน ใบเดี่ยวเรียงสลับ และเป็นรูปหอกแกมขอบขนาน กว้าง 5 - 10 ซม. ยาว 15 - 30 ซม. ด้านล่างของใบมักมีขนนุ่ม ดอกช่อแทงจากเหง้า กลีบดอกสีขาวนวล ใบประดับขนาดใหญ่สีแดง ผลเป็นผลแห้ง

ประโยชน์ทางสมุนไพร : มีฤทธิ์ขับลม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์กระตุ้น การหลั่งน้ำลาย และเพิ่มความอยากอาหาร โดยใช้หัวหรือเหง้าสด ขนาดประมาณหัวแม่มือ 2 หัว ย่างไฟพอสุกตำกับ น้ำปูนใสแล้วคั้นเอาน้ำดื่ม

***กระเทียม
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Allium sativum L.
วงศ์ : Alliaceae
ชื่อสามัญ : Common Garlic , Allium ,Garlic ,
ชื่ออื่น : กระเทียม (ภาคกลาง) หอมเทียม (ภาคเหนือ) หอมขาว (ภาคอีสาน) เทียม, หอมเทียม (ภาคใต้)

ลักษณะ : ไม่พุ่ม สูง 2-4 เมตร กิ่งอ่อนมีหนาม ใบประกอบชนิดมีใบย่อยใบเดียว เรียงสลับ รูปไข่ รูปวงรีหรือรูปไข่แกมขอบขนานกว้าง 3-5 ซม. ยาว 4-8 ซม. เนื้อใบมีจุดน้ำมันกระจาย ก้านใบมีครีบเล็ก ๆ ดอกเดี่ยวหรือช่อ ออกที่ปลายกิ่งและที่ซอกใบ กลีบดอกสีขาว กลิ่นหอม ร่วงง่าย ผลเป็นผลสด กลมเกลี้ยง ฉ่ำน้ำ

ประโยชน์ทางสมุนไพร : ตำรายาไทยใช้น้ำมะนาวและผลดองแห้งเป็นยาขับเสมหะแก้ไอ แก้โรคเลือดออกตามไรฟัน เพราะมีวิตามินซี น้ำมะนาวเป็นกระสายยาสำหรับสมุนไพรที่ใช้ขับเสมหะเช่นดีปลี

***กระวาน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Amomum krervanh Pierre
วงศ์ : Zingiberaceae
ชื่อสามัญ : Siam Cardamom, Camphor Seed
ชื่ออื่น : กระวานดำ กระวานแดง กระวานขาว (ภาคกลาง, ภาคตะวันออก) กระวานจันทร์ กระวานโพธิสัตว์

ลักษณะ : ไม้ล้มลุกสูง 1-3 เมตร ขึ้นในป่าชื้น บริเวณไหล่เขาสูง มีเหง้าใต้ดิน ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน กว้าง 8-15 ซม. ยาว 40-50 ซม. ไม่มีก้านใบ ดอกช่อแทงจากเหง้า กลีบดอกสีขาว เป็นหลอดและพองเป็นกระเปาะ ออกดอกเมื่อต้นอายุ 2-3 ปี ผลกลมเกลี้ยง ขนาด 6-15 มม. เมื่อแก่เปลือกผลจะแห้งและแข็ง เมล็ดขนาดเล็ก 12-18 เมล็ด รวมกลุ่มเป็น 3 กลุ่ม โดยมีเยื่อบาง ๆ กั้น มีกลิ่นหอมและรสเผ็ด

ประโยชน์ทางสมุนไพร : ตำรายาไทยใช้ผลเป็นยาขับลม รักษาโรคท้องอืดเฟ้อแน่นจุกเสียด โดยใช้ขนาด 1-2 กรัม ชงน้ำดื่มและใช้เป็นเครื่องเทศแต่งกลิ่นอาหาร

***กระเพรา
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ocimum sanctum L.
วงศ์ : Labiatae
ชื่ออื่น : กอมก้อ กอมก้อดง กะเพราขาว กะเพราแดง

ลักษณะ : กะเพรามี 3 พันธุ์ คือ กะเพราแดง กะเพราขาวและกะเพราลูกผสมระหว่างกะเพราแดงและกะเพราขาว มีลักษณะทั่วไปคล้ายโหระพา ต่างกันที่กลิ่นและกิ่งก้านซึ่งมีขนปกคลุมมากกว่าใบกะเพราขาวสีเขียวอ่อน ส่วนใบกะเพราแดงสีเขียวแกมม่วงแดง ดอกย่อยสีชมพูแกมม่วง ดอกกะเพราแดงสีเข้มกว่ากะเพราขาว

ประโยชน์ทางสมุนไพร : ตำรายาไทยใช้ใบหรือทั้งต้นเป็นยาขับลมแก้ปวดท้อง ท้องเสีย และคลื่นไส้อาเจียน นิยมใช้กะเพราแดงมากกว่ากะเพราขาว โดยใช้ยอดสด 1 กำมือ ต้มพอเดือด ดื่มเฉพาะส่วนน้ำ พบว่าฤทธิ์ขับลมเกิดจากน้ำมันหอมระเหย การทดลองในสัตว์ แสดงว่าน้ำสกัดทั้งต้นมีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ สารสกัดแอลกอฮอล์สามารถรักษาแผลในกระเพาะอาหาร สาร eugenol ในใบมีฤทธิ์ขับน้ำดี ช่วยย่อยไขมันและลดอาการจุกเสียด

***กานพลู
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eugenia caryophyllum Bullock & Harrison
วงศ์ : Myrtaceae
ชื่อสามัญ : Clove

ลักษณะ : ไม้ยืนต้น สูง 5-10 เมตร ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปวงรีหรือรูปใบหอก กว้าง 2.5-4 ซม. ยาว 6-10 ซม. ขอบเป็นคลื่น ใบอ่อนสีแดงหรือน้ำตาลแดง เนื้อใบบางค่อนข้างเหนียว ผิวมัน ดอกช่อ ออกที่ซอกใบ กลีบดอกสีขาวและร่วงง่าย กลีบเลี้ยงและฐานดอกสีแดงหนาแข็ง ผลเป็นผลสด รูปไข่

ประโยชน์ทางสมุนไพร : ตำรายาไทย ใช้ดอกตูมแห้งแก้ปวดฟัน โดยใช้ดอกแช่เหล้าเอาสำลีชุบอุดรูฟัน และใช้ขนาด 5-8 ดอก ชงน้ำเดือด ดื่มเฉพาะส่วนน้ำหรือใช้เคี้ยวแก้ท้องเสีย ขับลม แก้ท้องอืดเฟ้อ นอกจากนี้ใช้ผสมในยาอมบ้วนปากดับกลิ่นปาก พบว่าในน้ำมันหอมรเหยที่กลั่นจากดอกมีสาร eugenol ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ จึงใช้แก้ปวดฟัน และมีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ ทำให้เกิดอาการปวดท้องลดลง ช่วยขับน้ำดี ลดอาการจุกเสียดที่เกิดจากการย่อยไม่สมบูรณ์ และสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดเช่น เชื้อโรคไทฟอยด์ บิดชนิดไม่มีตัว เชื้อหนองเป็นต้น นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้มีการหลั่งเมือก และลดการเป็นกรดในกระเพาะอาหารด้วย

***ขมิ้นชัน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Curcuma longa L.
วงศ์ : Zingiberaceae
ชื่อสามัญ : Turmaric
ชื่ออื่น : ขมิ้น ขมิ้นแกง ขมิ้นหยอก ขมิ้นหัว ขี้มิ้น หมิ้น

ลักษณะ : ไม้ล้มลุก อายุหลายปี สูง 30-90 ซม. เหง้าใต้ดินรูปไข่มีแขนงรูปทรงกระบอกแตกออกด้านข้าง 2 ด้าน ตรงกันข้ามเนื้อในเหง้าสีเหลืองส้ม มีกลิ่นเฉพาะ ใบ เดี่ยว แทงออกมาเหง้าเรียงเป็นวงซ้อนทับกันรูปใบหอก กว้าง 12-15 ซม. ยาว 30-40 ซม. ดอก ช่อ แทงออกจากเหง้า แทรกขึ้นมาระหว่างก้านใบ รูปทรงกระบอก กลีบดอกสีเหลืองอ่อน ใบประดับสีเขียวอ่อนหรือสีนวล บานครั้งละ 3-4 ดอก ผล รูปกลมมี 3 พู

ประโยชน์ทางสมุนไพร : ตำรายาไทยใช้เหง้ารักษาโรคผิวหนังผื่นคัน โดยทำเป็นผงผสมน้ำหรือเหง้าสด ฝนทาน้ำ มีรายงานว่าพบน้ำมันหอมระเหยและสาร curcumin ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อหนองได้ดี จากการทดลองทารักษาโรคผิวหนังพุพองในเด็กพบว่าให้ผลเท่ายาปฏิชีวนะ นอกจากนี้ยังใช้เหง้ารักษาโรคท้องอืด ท้องเฟ้อและแผลในกระเพาะอาหาร โดยใช้ขนาด 250 มิลลิกรัม กินครั้งละ 2 เม็ด วันละ 4 ครั้งหลังอาหารและก่อนนอน ฤทธิ์แก้ท้องอืดน่าจะเกิดน้ำมันหอมระเหย ส่วนการเพิ่มน้ำย่อยและขับน้ำดีเกิดจาก ฤทธิ์ของ curcumin และ p-tolylcarbinol ทำให้การย่อยอาหารดีขึ้น อาการจุกเสียดลดลง curcumin ยังสามารถยับยั้งการเกิดก๊าซที่สร้างโดยเชื้อโรคที่ทำให้ท้องเสีย (Escherichia coli) แต่ไม่ได้ฆ่าเชื้อ นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งเมือกในทางเดินอาหาร จึงใช้รักษาแผลในกระเพาะอาหารได้ แต่มีข้อควรระวังคือ curcumin ในขนาดที่สูงกว่าขนาดรักษา 2 เท่า ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร

***ข่า
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Alpinia nigra (Gaertn.) Burtt
วงศ์ : Zingiberaceae
ชื่อสามัญ :
ชื่ออื่น : ข่าหยวก ข่าหลวง

ลักษณะ : ไม้ล้มลุก สูง 1.5-2 เมตร เหง้ามีข้อและปล้องชัดเจน ใบ เดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอก รูปวงรีหรือเกือบขอบขนาน กว้าง 7-9 ซม. ยาว 20-40 ซม. ดอก ช่อ ออกที่ยอด ดอกย่อยขนาดเล็ก กลีบดอกสีขาว โคนติดกันเป็นหลอดสั้นๆ ปลายแยกเป็น 3 กลีบ กลีบใหญ่ที่สุดมีริ้วสีแดง ใบประดับรูปไข่ ผล เป็นผลแห้งแตกได้ รูปกลม

ประโยชน์ทางสมุนไพร : ตำรายาไทยใช้เหง้าอ่อนต้มเอาน้ำดื่ม บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และขับลม เหง้าสดตำผสมกับเหล้าโรง ใช้ทารักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากจากเชื้อรา เช่น กลาก เกลื้อน สารที่ออกฤทธิ์คือน้ำมันหอมระเหย และ 1’-acetoxychavicol acetate ข่าไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ และไม่เป็นพิษในขนาดยา 250 เท่าของขนาดที่ใช้ในตำรายาไทย จัดเป็นสมุนไพรที่ปลอดภัย

***ขิง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Zingiber officinale Roscoe
วงศ์ : Zingiberaceae
ชื่อสามัญ : Ginger
ชื่ออื่น : ขิงแกลง ขิงแดง ขิงเผือก

ลักษณะ : ไม้ล้มลุกสูง 0.3-1 เมตร มีเหง้าใต้ดิน เปลือกนอกสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในสีนวลมีกลิ่นเฉพาะ แทงหน่อหรือลำต้นเทียมเช่นเดียวกับไพล ใบเดี่ยว เรียงสลับรูปขอบขนานแกมใบหอก กว้าง 1.5-2 ซม. ยาว 15-20 ซม. ดอกช่อแทงออกจากเหง้า กลีบดอกสีเหลืองแกมเขียว ใบประดับสีเขียวอ่อน ผลเป็นผลแห้ง มี 3 พู

ประโยชน์ทางสมุนไพร : ตำรายาไทยใช้เหง้าขิงแก่ทั้งสดและแห้ง เป็นยาขับลม แก้อาเจียนแก้ไอขับเสมหะ และขับเหงื่อโดยใช้เหง้าสดขนาดนิ้วหัวแม่มือต้มกับน้ำหรือใช้ผงขิงแห้งชงน้ำดื่ม จากการทดลองกับอาสาสมัคร 36 คนพบว่าผงขิงป้องกันการเมารถเมาเรือได้ดีกว่ายาแผนปัจจุบัน (dimenhydrinate) ในเหง้ามีน้ำมันหอมระเหยประกอบด้วย menthol, bornelo, fenchone, 6-shogoal และ6-gingerol menthol, มีฤทธิ์ขับลม borneol, fenchone และ 6-gingerol มีฤทธิ์ขับน้ำดี ช่วยย่อยไขมันนอกจากนี้พบว่าสารที่มีรสเผ็ดได้แก่ , 6-shogoal และ6-gingerol ลดการบีบตัวของลำไส้ จึงช่วยบรรเทาอาการปวดท้องเกร็ง

***ดีปลี
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Piper chaba Hunt
วงศ์ : Piperaceae
ชื่อสามัญ : Long Pepper
ชื่ออื่น :

ลักษณะ : ไม้เถารากฝอยออกบริเวณข้อเพื่อใช้ยึดเกาะ ใบ เดี่ยวรูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง 3-5 ซม. ยาว 7-10 ซม. สีเขียวเข้มเป็นมัน ดอก ช่อ ออกที่ซอกใบ ดอกย่อยอัดกันแน่น แยกเพศ ผล เป็นผลสด มีสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดง รสเผ็ดร้อน

ประโยชน์ทางสมุนไพร : ตำรายาไทยใช้ผลแก่จัดแต่ยังไม่สุกตากแห้งเป็นยาขับลม บำรุงธาตุ แก้ท้องเสีย ขับรกหลังคลอด โดยใช้ผล 1 กำมือ (ประมาณ 10-15 ผล) ต้มเอาน้ำดื่ม นอกจากนี้ใช้เป็นยาแก้ไอ โดยเอาผลแห้งครึ่งผลฝนกับมะนาวแทรกเกลือใช้กวาดคอหรือจิบบ่อยๆ ฤทธิ์ขับลมและแก้ไอ เกิดจากน้ำมันหอมระเหยและสาร piperine พบว่าสารสกัดเมทานอลมีผลยับยั้งการบีบตัวของลำไส้เล็กและสารสกัดปิโตรเลียมอีเธอร์ ทำให้สัตว์ทดลองแท้ง จึงควรระวังการใช้ในสตรีมีครรภ์

***ตะไคร้
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cymbopogon citratus Stapf
วงศ์ : Gramineae
ชื่ออื่น : ชื่อสามัญ : Lemon Grass
ชื่ออื่น : จะไคร ไคร

ลักษณะ : ไม้ล้มลุก อายุหลายปี สูง 0.75-1.2 เมตร แตกเป็นกอ เหง้าใต้ดินมีกลิ่นเฉพาะ ข้อและปล้องสั้นมาก กาบใบสีขาวนวลหรือขาวปนม่วง ยาวและหนาหุ้มข้อและปล้องไว้แน่น ใบเดี่ยวเรียงสลับ กว้าง 1-2 ซม. ยาว 70-100 ซม. แผ่นใบและขอบใบสากและคม ออกดอกยาก

ประโยชน์ทางสมุนไพร : โคนกาบใบและลำต้นทั้งสดและแห้งมีน้ำมันหอมระเหย ตำรายาไทยใช้เป็นยาขับลม แก้ท้องอืดเฟ้อแน่นจุกเสียดใช้ลำต้นแก่สดประมาณ 1 กำมือ (40-60 กรัม) ทุบพอแหลก ต้มน้ำพอเดือดหรือชงน้ำ ดื่มวันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร นอกจากนี้ใช้เป็นยาขับปัสสาวะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการขัดเบาหรือปัสสาวะไม่คล่อง โดยผู้ป่วยต้องไม่มีอาการบวมที่แขนและขา พบว่าน้ำมันตะไคร้มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราและแบคทีเรีย

***มะนาว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Citrus aurantifolia Swing.
วงศ์ : Rutacear
ชื่อสามัญ : Lime
ชื่ออื่น : ส้มมะนาว

ลักษณะ : ไม่พุ่ม สูง 2-4 เมตร กิ่งอ่อนมีหนาม ใบประกอบชนิดมีใบย่อยใบเดียว เรียงสลับ รูปไข่ รูปวงรีหรือรูปไข่แกมขอบขนานกว้าง 3-5 ซม. ยาว 4-8 ซม. เนื้อใบมีจุดน้ำมันกระจาย ก้านใบมีครีบเล็ก ๆ ดอกเดี่ยวหรือช่อ ออกที่ปลายกิ่งและที่ซอกใบ กลีบดอกสีขาว กลิ่นหอม ร่วงง่าย ผลเป็นผลสด กลมเกลี้ยง ฉ่ำน้ำ

ประโยชน์ทางสมุนไพร : ตำรายาไทยใช้น้ำมะนาวและผลดองแห้งเป็นยาขับเสมหะแก้ไอ แก้โรคเลือดออกตามไรฟัน เพราะมีวิตามินซี น้ำมะนาวเป็นกระสายยาสำหรับสมุนไพรที่ใช้ขับเสมหะเช่นดีปลี

***เร่ว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Amomum xanthioides Wall.
วงศ์ : Zingiberaceae
ชื่อสามัญ : Bustard cardamom, Tavoy cardamom
ชื่ออื่น : หมากแหน่ง (สระบุรี) หมากเนิง (อีสาน) มะอี้ หมากอี้ มะหมากอี้ (เชียงใหม่) หน่อเนง (ชัยภูมิ)

ลักษณะ : เร่วเป็นพืชล้มลุก มีเหง้าหรือลำต้นอยู่ในดิน จัดเป็นพืชสกุลเดียวกับ กระวาน ข่า ขิง ใบมีลักษณะยาวเรียว ปลายใบแหลมและห้อยโค้งลง ก้านใบมีขนาดสั้น ออกดอกเป็นช่อจากยอดที่แทงขึ้นมาจากเหง้า ดอกมีสีขาวก้านช่อดอกสั้น ผลมีขนสีแดงปกคลุม เมล็ดมีสีน้ำตาล เร่วมีหลายชนิด เช่น เร่วหอม เร่วช้าง เร่วกอ ซึ่งเร่วเหล่านี้มีลักษณะต้นแตกต่างกันไป

ประโยชน์ทางสมุนไพร : น้ำมันหอมระเหยในเมล็ดเร่วมีฤทธิ์เป็นยาขับลม ช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ แน่น จุกเสียด โดยใช้เมล็ดประมาณ 3 กรัม บดให้เป็นผงรับประทานวันละ 3 ครั้ง และช่วยขับเสมหะ แก้คลื่นเหียนอาเจียนได้ดีอีกด้วย

***แห้วหมู
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cyperus rotundus L.
วงศ์ : Cyperacear
ชื่อสามัญ : Nutgrass
ชื่ออื่น : หญ้าขนหมู

ลักษณะ : ไม้ล้มลุก อายุหลายปี สูง 20-40 ซม. มีลำต้นใต้ดินเป็นหัวคล้ายหัวแห้วไทย แตกแขนงลำต้นเป็นเส้นแข็งเหนียวอยู่ใต้ดินและงอกเป็นหัวใหม่ได้ ใบเดี่ยว จำนวนมาก แทงออกจากหัวกว้าง 2-6 มม. ยาว 5-20 ซม. ดอกช่อ คล้ายดอกหญ้า สีน้ำตาลแดง แตกแขนงเป็น 4-10 กิ่ง ก้านช่อดอกเป็นสามเหลี่ยมตรง ผลเป็นผลแห้ง

ประโยชน์ทางสมุนไพร : ตำรายาไทยใช้หัวใต้ดินเป็นยาบำรุงหัวใจ ขับเหงื่อและขับปัสสาวะ การทดลองในสัตว์พบฤทธิ์ขับปัสสาวะ ลดไข้ ลดความดันโลหิตและลดการอักเสบ ซึ่งเชื่อว่าเกิดจาก a-cyperone นอกจากนี้พบฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อมาลาเรียชนิดฟัลซิพารัมในหลอดทดลองด้วย

สมุนไพรเพิ่มภูมิต้านทาน

สมุนไพรเพิ่มภูมิต้านทาน


มีพืชผักและผลไม้หลายชนิดที่มีคุณสมบัติเพิ่มภูมิต้านทานโรคจึงมีประโยชน์ในการป้องกันโรคที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันต่ำบางชนิด เช่น เอดส์ มะเร็ง ฯลฯ ผู้สูงอายุส่วนมากร่างกายไม่แข็งแรง มีปัญหาเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันต่ำ จึงควรรับประทาน พืชผักที่มีผลเพิ่มภูมิต้านทาน เพื่อช่วยให้สุขภาพแข็งแรงขึ้น ตัวอย่างสมุนไพรที่มีรายงานว่ามีผลเพิ่มภูมิต้านทานได้ เช่น กระเทียม เห็ดหลินจือ โสม เห็ดหอม ถั่วเหลือง บัวบก และกะเพรา เป็นต้น

กระเทียม ชื่ออื่นๆ : หอมเทียม, เทียม, หัวเทียม

-หัวกระเทียมสดมีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งประกอบด้วยสาร อินทรีย์กำมะถันหลายชนิด เช่น อัลลิซิน ไดอัลลินไดซัลไฟด์ และสารอินทรีย์กำมะถันที่ละลายน้ำได้ เช่น เอสอัลลิลซีสทีอิน และเอสอัลลินเมอร์คาโตซีสทีอีน เป็นต้น หัว และใบกระเทียม ใช้เป็นเครื่องเทศ แต่งกลิ่นอาหารหลายชนิด ใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องแกง ใช้เจียวโรยหน้า แต่งกลิ่นอาหารไทยหลายชนิด เช่น แกงจืด สาคูไส้หมู ก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น

-สรรพคุณทางยา : มีรายงานผลทางวิจัยว่ากระเทียมอาจช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งได้ โดยออกฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และขัดขวางการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง มีรายงานจากประเทศจีน และอิตาลีพบว่าผู้ที่รับประทานกระเทียมเป็นประจำ จะเป็นมะเร็งน้อยกว่าคนที่ไม่รับประทานกระเทียม และยังมีรายงานว่ากระเทียมบ่มสกัดประกอบด้วยสารที่ละลายน้ำ และ ปราศจากกลิ่นของอนุพันธุ์ของ สารซีสทีอีน คงตัวดีกว่าอัลลิซิน สารดังกล่าวสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยยับยั้งการทำงานของสารก่อมะเร็ง การเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งหลายชนิดในสัตว์หลายชนิดในสัตว์ทดลอง จึงมีผลช่วยป้องกัน และช่วยเสริมการรักษามะเร็ง อีกทั้งช่วยเสริมพฤติกรรมการเรียนรู้ เพิ่มความจำและช่วยลดอาการเครียดในหนูทดลองได้อีกด้วย

สรรพคุณอื่นๆ ของกระเทียมซึ้งเป็นที่รู้จักกันมานาน ได้แก่ ช่วยขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ ช่วยลด โคเลสเตอรอลในเลือด ช่วยลดความดันโลหิต และลดน้ำตาลในเลือด

ที่มา: นิทรรศการการแพทย์แผนไทย

สมุนไพรบำรุงสายตา

สมุนไพรบำรุงสายตา


ผู้สูงอายุมักมีปัญหาเกี่ยวกับโรคสายตา เช่น ตาฝ้าฝาง เคืองตา และมักจะขาดไวตามินหลายชนิดรวมถึงไวตามินเอ ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับสายตา และการมองเห็น ผู้สูงอายุ จึงควรรับประทานพืชผักต่างๆ ที่มีไวตามินเอ สูง เช่น ยอดแค ใบกะเพรา ใบขี้เหล็ก แครอท ผักเชียงดา ยอดฟักขาว ผักบุ้ง ฟักทอง เป็นต้น

กะเพรา ชื่ออื่นๆ : กะเพราขาว, กะเพราแดง, กอมก้อ, กอมก้อดง

-ใบกะเพราประกอบด้วยสาารอาหารหลายชนิด เช่น เบต้าแคโรทีน ไวตามินซี ไนอะซิน ฟอสฟอรัส เหล็ก และแคลเซียมในใบกะเพราจะมีเบต้าแคโรทีนสูง (7,857 ไมโครกรัม/100 กรัม) ซึ่งสารนี้จะเปลี่ยนเป็นไวตามินเอในร่างกายของคนเรา กะเพราแดงมีฤทธิ์แรงกว่ากะเพราขาว ในทางยาจึงนิยมใช้กะเพราแดง ส่วนกะเพราขาวนิยมใช้ปรุงอาหาร ช่วยดับกลิ่นคาว เช่น ใช้ปรุงแกงป่า เนื้อ ปลา และผัดเผ็ดต่างๆ
-สรรพคุณทางยา : นอกจากกะเพราจะช่วยบำรุงสายตาแล้ว ยังให้ประโยชน์อื่นๆ อีก ได้แก่
1. ใช้เป็นยาลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้อาการแน่น จุกเสียด แก้ปวดท้องทั้งเด็กและผู้ใหญ่
2. แก้คลื่นไส้อาเจียน จากอายุไม่ปกติ
3. ขับเหงื่อ ขับน้ำนมสำหรับหญิงแม่ลูกอ่อน
4. ช่วยบรรเทาอาการหอบหืด
5. ใช้ภายนอกแก้ กลาก เกลื้อน และช่วยไล่ยุง

ขี้เหล็ก ชื่ออื่นๆ : ขี้เหล็กบ้าน, ขี้เหล็กหลวง, ขี้เหล็กแก่น, ขี้เหล็กใหญ่, ยะหา

-ดอกตูม และใบอ่อนใช้เป็นอาหาร เช่น แกงขี้เหล็ก และลวกเป็นผักจิ้ม ในใบขี้เหล็กมีเบต้าแคโรทีน สูง (7,181 ไมโครกรัม/100 กรัม ) และมีสารสำคัญเป็นมารจำพวกโครโมน ซึ่งสารดังกล่าวจะเปลี่ยนเป็นบาราคอล (barakol)เมื่ออยู่ ในสภาวะที่เป็นกรด และยังพบแอนทราควิโนนเล็กน้อยซึ่งทำให้มีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ
-สรรพคุณทางยา : นอกจากจะช่วยบำรุงสายตาแล้ว ใบ และ ดอกอ่อนของขี้เหล็กยังใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ แก้ท้องผูก ช่วยให้นอนหลับ คลายกังวล ระงับประสาท ส่วนแก่นใช้เป็น ยาระบาย ฟอกโลหิต และช่วยบำรุงโลหิต

แครอท ชื่ออื่นๆ : ผักกาดหัวเหลือง, ผักชีหัว

-หัว (ราก) แครอทใช้เป็นผักสลัด ผักจิ้ม และใช้ประกอบ อาหารหลายชนิด ในหัวประกอบด้วยเบต้าแคโรทีน ซึ่งเป็นสารส้มเหลืองในปริมาณสูง (6,994 ไมโครกรัม/100 กรัม) ใช้แต่งสีให้อาหารมีสีเหลือง
-สรรคุณทางยา : สารเบต้าแคโรทีนจะเปลี่ยนเป็นไวตามิน เอ ภายในร่างกาย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสายตา โดยเฉพาะโรคตาฟาง นอกจากนี้หัวแครอทยังช่วยขับปัสสาวะ เนื่องจาก มีปริมาณเกลือโปแตสเซียมสูง และยังมีรายงานว่าน้ำมันหอมระเหยในหัวแครอทยังมีฤทธิ์ขับพยาธิไส้เดือนได้อีกด้วย

ผักเซียงดา ชื่ออื่นๆ : ผักเจียงคา

-ยอดอ่อนของผักเซียงดา เป็นผักที่ชาวเหนือนิยมรับประทาน ทั้งในรูปผักสด และนำมาแกงกับปลาแห้ง และใช้เป็นส่วนประกอบในแกงแค ยอดอ่อนของผักเซียงดามีเบต้าแคโรทีน สูง (5905 ไมโครกรัม/100 กรัม)
-สรรพคุณทางยา : ในตำราไทยไม่มีการบันทึกสรรพคุณทางยาของผักเซียงดา ส่วนทางเหนือใช้ใบผักเซียงดาตำละเอียด นำมาพอกกระหม่อมเพื่อรักษาไข้ รักษาหวัด หรือใช้เป็น ส่วนประกอบในตำหรับยาแก้ไข้

ฟักข้าว ชื่ออื่นๆ : ผักข้าว ขี้กาเครือ พุคู้เด๊าะ

-ฟักข้าวเป็นพืชที่ใช้ยอดอ่อน ใบอ่อน และผลอ่อนรับประทานเป็นผักได้ โดยนำมานึ่งหรือลวกให้สุกทานกับน้ำพริก หรือ นำไปปรุงเป็นแกง เช่น แกงแค ยอดอ่อนของฟักข้าวมีรสขม ออกหวาน มีเบต้าแคโรทีนค่อนข้างมาก (4,782 ไมโคกรัม/100 กรัม) จึงช่วยบำรุงสายตา
-สรรพคุณทางยา : ใบใช้เป็นยาถอนพิษ ใช้เป็นส่วนผสมในยาเขียว รากรสเย็น และรสเบื่อเล็กน้อย ใช้ถอนพิษไข้ทั้งปวง

สมุนไพรเพื่อวัยผู้สูงอายุ

สมุนไพรเพื่อวัยผู้สูงอายุ


วัยสูงอายุเป็นวัยที่ร่างกายเสื่อมโทรมในหลายด้านมีปัญหาสุขภาพและโรคประจำตัวต่างๆมากมาย ในการป้องกันและบำบัดรักษาโรคผู้สูงอายุนั้นนอกจากยาแผนปัจจุบันชึ่งต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศเป็นจำนวนเงินมากมายแล้วสมุนไพรจำนวนมากสามารถใช้ทดแทนได้ดีและใช้กันมาแล้วหลายชั่วอายุคน

สมุนไพรบำรุงกระดูก

ผู้สูงอายุมักประสพปัญหาเกี่ยวกับโรคกระดูกพรุน เนื่องจากเซลล์ของกระดูกมีการสลายมากกว่าการสร้างโรคกระดูกพรุนพบในหญิงมากกว่าชายการสูญเสียแคลเชียมที่กระดูกทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลง กระดูกหักง่ายการได้รับแคลเชียมที่เพียงพอจะช่วยเพิ่มความแน่นของกระดูกดังนั้นผู้สุงอายุ ควรได้รับอาหารที่มี แคเชี่ยมเพียงพอประมาณวันละ800มิลลิกรัม แคเชี่ยมมีมากในน้ำนม ปลาป่น กุ้งแห้ง และผักใบเขียวที่มีปริมาณแคลเซียมสูงได้แก่ ใบยอ ใบช้าพลู ฝักมะขามอ่อน ยอดแค ผักกะเฉด และยอดสะเดา เป็นต้น

ยอ ชื่ออื่นๆ : ยอบ้าน, แยใหญ่, มะตาเสือ

-ใบยอ มีแคลเซียมสูง (469-841 มก./100 ก.)ใบใช้ประกอบอาหาร เช่นห่อหมก แกงอ่อม เป็นต้น
-สรรพคุณทางยา : ใบอ่อนมีรสขม ใช้เป็นยาลดความร้อนในร่างกาย แก้ไข บำรุงธาตุ แก้ท้องร่วงในเด็กแก้เหงือกปวด บวม ปวดข้อ

ช้าพลู ชื่ออื่นๆ : ชะพลู, พลูนก, ผักปูนก, ผักแคนก, พลูลิง,ผักอีไร, นมวา, ผักปูนา

-ใบช้าพลูนิยมใช้เป็นผักรับประทานกับเมี่ยงคำ ส้มตำ ข้าวยำ และใช้ทำแกงเลียง ในใบประกอบด้วยแคลเซียมในปริมาณสูง (601 มก./100 ก.) และยังพบธาตุฟอสฟอรัส เหล็ก และ ไวตามินต่างๆ ใบช้าพลูมีปริมาณสารออกซาเลทค่อนข้างสูง (691 มก/100 ก.)จึงไม่ควรรับประทานเป็นประจำ
-สรรพคุณทางยา : ตำราไทยใช้ราก ใช้ใบช้าพลูเป็นยาขับลม ทั้งต้นใช้ใบขับเสมหะ รากและผลใช้รักษาบิด ใบมีรสเผ็ดเล็กน้อยใช้แก่ธาตุพิการ บำรุงธาตุ คุมเสมหะให้ปกติ แก้จุกเสียด

มะขาม ชื่ออื่นๆ : หมากแกง, ตะลูบ, ขาม

-ฝักมะขามอ่อนมีแคลเซียมสูง (429 มก/100 ก.)ทางด้าน อาหารใช้ยอดอ่อน ใบอ่อน ดอก ฝัก ฝักแก่ และอ่อนของ มะขาวเปรี้ยวเป็นอาหาร ยอดอ่อนใช้ปรุงแกง ดอกใช้ยำ ส่วนฝักอ่อนใช้ตำน้ำพริก เนื้อในฝักแก่มีรสเปรี้ยว เปรี้ยวอมหวาน หรือหวาน ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ รับประทานเป็น ผลไม้ หรือใช้ปรุงแต่งรสเปรี้ยวในอาหาร
-สรรพคุณทางยา : มะขามเปียกใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ แก้ไอ ขับเสมหะ ฝักอ่อนมีแคลเซียม และ
ไวตามินสูง บำรุงกระดูก และช่วยป้องกันเลือดออกตามไรฟัน

แค ชื่ออื่นๆ : แคบ้าน, แคแดง

-ยอดแคลเซียมสูง(395 มก/100 ก.) นิยมนำมาลวก เป็นผักจิ้มน้ำพริกดอกแคนิยมใช้ปรุงอาหาร เช่น แกงส้ม และใช้ลวกเป็นผักจิ้ม
-สรรพคุณทางยา : ยอดอ่อนใช้รับประทานแก้ไข้หัวลม (ไข้ที่เกิดขึ้นเมื่ออากาศเปลี่ยนแปลง) เปลือกต้นมีรสขมฝาดใช้แก้ท้องเสีย น้ำต้มเปลือกใช้ล้างบาดแผล

ผักกะเฉด ชื่ออื่นๆ : ผักรู้นอน, ผักหนอง, ผักหละหนอง, ผักกะเฉดน้ำ

-ใบและลำต้นที่แกะนวมออกแล้ว ใช้รับประทานเป็นผัก ใช้ปรุงเป็นอาหาร เช่น แกงส้ม และยำต่างๆ ต้นสดมีโปรตีนสูง (6.4ก./100 ก.) และมีแคลเซียมสูง (387 มก/100 ก.)
-สรรพคุณทางยา : ผักกะเฉดมีรสเย็น ช่วยบรรเทาความร้อน ใช้ดับพิษร้อนถอนพิษไข้ ถอนพิษยาเบื่อเมา ช่วยบำรุงกระดูก เนื่องจากมีแคลเซียมค่อนมาก

สมุนไพรกับโรคและสรรพคุณ

สมุนไพรกับโรค


การแพทย์แผนไทย ทางออกในการรักษาโรคมะเร็ง

มะเร็งเป็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังแสวงหาทางเลือกในการดูแลรักษา เป็นสาเหตุการตายอันดับ ๓ รองจากโรคหัวใจและอุบัติเหตุ นับเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ต้องรีบแก้ไข มีงานวิจัยมากมายที่แสดงว่าร้อยละ ๙0 ของมะเร็งสามารถป้องกันและรักษาได้

ขอสรุปที่ว่า ร่างกายคนเรามีเซลล์มะเร็งเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่เราเอาชนะและไม่ป่วย เป็นมะเร็งเพราะ ร่างกายมีความต้านทานที่แข็งแกร่งด้วยระบบภูมิคุ้มกันที่สามารถต่อสู้ได้ ดั้งนั้นระบบภูมิคุ้มกันที่ถูกทำลายด้วยวิธีต่างๆล้วนเป็นสาเหตุ สำคัญที่ก่อมะเร็ง ได้แก่ การกินอาหาร ที่ไม่ครบถ้วนไม่สะอาดและเต็มไปด้วยสารพิษ สารก่อมะเร็ง การไม่ออกกำลังกาย การอยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ

ฉะนั้นถ้ามีพฤติกรรมสุขภาพโดยเฉพาะการเลือกรับประทานอาหารก็จะช่วยป้องกันโรคนี้ได้บ้างเช่น รับประทานอาหารที่มีเส้นใย (Fiber) มาก และมีข้อสรุป สำหรับเลือกบริโภคอาหารโดยหลัก ๔ ล. คือ

๑. ลด อาหารไขมันจากสัตว์
๒. เลิก อาหารกระป๋อง อาหารที่มีสีสังเคราะห์และสารเคมี เช่น สารกันบูดเจือปน สีที่ไม่ใช่สีผสมอาหาร
๓. เลี่ยงอาหารปิ้ง ย่าง อบ รมควัน
๔. ลุ้น อาหารสด ผัก ผลไม้ อาหารสมุนไพร ที่ปลอดสารพิษ

ทางเลือกในการรักษาโรคมะเร็ง

การรักษาโรคมะเร็งควรควรใช้หลายวิธีร่วมกันทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทย รวมทั้งคำนึงถึงสภาพจิตใจของผู้ป่วยและญาติด้วย เมื่อทราบแน่ชัดจากการตรวจของแพทย์แผนปัจจุบัน ว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งแล้ว ไม่ควรปิดกั้นการรักษาของผู้ป่วย หากจะเลือกแผนปัจจุบันร่วมกับแผนไทย แต่วิธีที่จะเป็นประโยชน์สูงสุดกับผู้ป่วย คือ เมื่อตรวจร่างกายแน่ชัดว่าเป็นมะเร็งแล้ว ควรรักษากับแพทย์แผนปัจจุบันก่อน เพราะการเป็นมะเร็งระยะแรกๆ รักษาหายขาดได้ ส่วนการจะเลือกรักษาโดยแผนไทยนั้นไม่ควรตัดสินใจเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ควรรักษาควบคู่กันกับแผนปัจจุบัน และควรให้แพทย์แผนปัจจุบันตรวจรักษาอย่างสม่ำเสมอ การใช้สมุนไพรและการใช้ทางเลือกอื่นนั้น จะเป็นการประคับประคองด้านภูมิต้านทานและด้านจิตใจ เช่นการใช้สมาธิ เป็นต้น

การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การพักผ่อนเพียงพอ จะทำให้มีสุขภาพแข็งแรง เป็นการป้องกันโรคได้ทางหนึ่ง
การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง

การดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งมีความสำคัญยิ่ง เพราะภาวะทางกาย จิตใจ และอารมณ์ของผู้ป่วยจะถูกกระทบกระเทือนมากภาวะทุกข์ทรมานได้แก่อาการเจ็บปวดอาการกระสับกระส่าย กลืนอาหารลำบาก คลื่นไส้อาเจียนซึมเศร้า นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร เป็นต้น

องค์ความรู้ด้านแพทย์แผนไทยสามารถนำมาใช้ในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ตั้งแต่การเลือกรับประทานอาหารตามธาตุ การใช้ยาสมุนไพร บำบัดอาการข้างต้น ตลอดจนการนวดแผนไทยและการทำสมาธิ เพื่อบำบัดอาการปวด ซึมเศร้า นอนไม่หลับ เป็นต้น หลักการดังกล่าวถ่ายทอดให้ผู้ป่วยนำไปประพฤติปฏิบัติที่บ้านได้

สมุนไพรต้านมะเร็ง

ผู้ป่วยโรคมะเร็งควรรับประทานผักผลไม้ให้ได้เพราะผักผลไม้หลายชนิดจะมีคุณสมบัติเป็นตัวกำจัดอนุมูลอิสระ (แอนตี้ออกซิแดนท์) และสารที่ฆ่าเซลล์มะเร็งได้ ในวันหนึ่งๆ ควรได้ผัก ๒๕-๓0% ผลไม้ ๑0% เนื้อปลาหรือถั่ว ๑0% อีก ๕0% ควรเป็นข้าวกล้อง หรือเผือกมัน ผักและผลไม้ ควรปรุงรูปแบบธรรมดา เช่น ต้ม ลวก แกงหรือรับประทานดิบ ไม่ควรเติมน้ำตาล น้ำผึ้ง เกินความจำเป็น เพราะจะทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาลมากเกินไป

รายชื่อ ผัก ผลไม้ ที่ควรบริโภคมีดังนี้

สมุนไพรที่มีสารต้านเซลล์มะเร็ง ได้แก่ มะกรูด ผักแขยง ขึ้นฉ่าย บัวบก ผักชีฝรั่ง กระชาย ข่าใหญ่ มันเทศ ใบมะม่วง มะกอก เบญจมาศ แขนงกะหล่ำ แตงกวา พริกไทย ดีปลี โหระพา กะเพรา ใบตะไคร้ ถั่ว ผักแว่น ผักขวง เพกา ช้าพลู ลูกผักชี เร่ว เหงือกปลาหมอ ขมิ้นอ้อย หัวหอมแดง หอมหัวใหญ่ กระเทียม ฯลฯ

สมุนไพรที่มีสารแอนตี้ออกซิแดนท์ (วิตามิน เอ ซี อี)

-วิตามินเอสูง ได้แก่ ใบยอ ใบย่านาง ตำลึง ผักกูด มะระ กระสัง ผักแพว ผักชีลาว ผักแว่น ผักบุ้ง เหลียงกระเจี๊ยบแดง แมงลัก ชะอม พริกชี้ฟ้าแดง แพงพวย ขี้เหล็ก ฯลฯ

-วิตามินซีสูง ได้แก่ มะขามป้อม ฝรั่ง มะปราง ขนุน ละมุด มะละกอ มะกอก ส้ม มะขาม ลูกหว้า พุทรา ฯลฯ

-วิตามินอีสูง ได้แก่ พวกธัญพืชต่างๆ เช่นงาดำ ข้าวซ้อมมือ จมูกข้าว ข้าวโพด ฯลฯ

-เบ้ต้าแคโรทีนสูง ได้แก่ แครอท ฟักทอง แค กะเพรา แพชั่นฟรุต ขี้เหล็ก ผักเชียงดา ยอดฟักข้าว ผักแซ่ว ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาของถาบันวิจัยมะเร็งของสหรัฐอเมริการพบว่าผู้ที่ไม่ได้รับประทานกานกระเทียมเลย มีโอกาสเป็นมะเร็งในกระเพาะอาหารมากกว่าผู้ที่รับประทานปริมาณมากกว่าผู้ที่รับประทานในปริมาณมากอยู่เสมอถึง ๑,000 เท่า เนื่องจากในกระเทียมมีสารสำคัญที่จะไปยับยั้งกระบวนการเปลี่ยนแปลงไปเป็นสารก่อมะเร็งของไนเตรต ซึ่งคนได้รับจากอาหารและผักบางชนิด

ภาวะผิดปกติของธาตุในร่างกาย

จากการที่นักวิชาการค้นพบว่า ตัวการที่ทำให้ร่างกายมนุษย์ทรุดโทรม แก่ และความต้านทานบกพร่อง เกิดโรคต่างๆ รวมทั้งมะเร็ง ล้วนแต่เกิดจากการประพฤติปฏิบัติของมนุษย์เอง ที่ทำให้เกิดอนุมูลอิสระมากขึ้น เกิดกระบวนการออกซิเดชั่นในร่างกายจนเสื่อมในที่สุด

คนไทยแต่โบราณมิได้รู้รายละเอียดปฎิกริยาภายในเหล่านี้ เขารู้เพียงว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และนำสมุนไพรมาปรุงแต่งรับประทานในรูปอาหารและยาแล้วอาการดีขึ้น ลองผิดลองถูก จนสรุปเป็นทฤษฎีการปรับธาตุทั้ง ๔ คือธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ โดยนำสมุนไพร ๙ ชนิด ได้แก่ ดีปลี ช้าพลู สะค้าน เจตมูลเพลิงแดง ขิง พริกไทย สมอไทย สมอพิเภก และมะขามป้อม มาปรุงเป็นยาปรับธาตุทั้ง ๔ ใช้รักษา เมื่อธาตุนั้นๆ มีอาการพิการ (ผิดปกติ) กำเริบ (มากเกินไป) หย่อน (น้อยไปหรือไม่สมบูรณ์) และยาปรับธาตุตามฤดูกาล ตัวอย่างเช่น
-ดินพิการ หมายถึง สภาพผิดปกติของอวัยวะที่แสดงออก เช่น ผิวหนังมีผื่น ตุ่ม เน่า เปื่อย เป็นแผล อวัยวะภายใน เช่น ตับเป็นฝี อักเสบ
-น้ำกำเริบ คือ การมีน้ำมากเกินไป น้ำมูกไหลทั้งวัน ท้องเดิน บวม ความดันโลหิตขึ้นสูง มีน้ำในกระแสเลือดมาก
-ไฟหย่อน คือ ภาวะที่ความร้อนในตัวน้อย รู้สึกเยือกเย็น หนาวสั่น ถ้าไฟย่อยอาหาร น้อยไป ก็จะท้องอืดเฟ้อ อาหารไม่ย่อย
-ลมหย่อน คือ ภาวะพลังแห่งการเคลื่อนไหวน้อยไป

ตัวอย่าง ยาแก้ธาตุไฟหย่อนมี ส่วนชองตัวยาดังนี้

-รากเจตมูลเพลิง หนัก ๑๖ ส่วน
-เหง้าขิงแห้ง หนัก ๘ ส่วน
-ลูกเสมอพิเภก หนัก ๔ ส่วน
-เถาสะค้าน หนัก ๓ ส่วน
-รากช้าพลู หนัก ๒ ส่วน
-ดอกดีปลี หนัก ๑ ส่วน

สำหรับยาปรับธาตุตามฤดูกาล มีดังนี้

๑. ตรีผลา ได้แก่ ลูกเสมอพิเภก ลูกเสมอไทย ลูกมะขามป้อม ยาประจำฤดูร้อน สมุนไพร ๓ ชนิดนี้มีวิตามินสูงมากและปลอดภัยและมีสารแอนตี้ออกซิแดนท์
๒. ตรีกฏุก ได้แก่ เหง้าขิงแห้ง เมล็ดพริกไทย ดอกดีปลี ยาประจำฤดูฝน สมุนไพร ๓ ชนิดนี้ปลอดภัยเช่นกัน และแต่ละชนิดเป็นพืชผักสวนครัวอยู่แล้ว
๓. ตรีสาร ได้แก่ รากเจตมูลเพลิง เถาสะค้าน รากช้าพลู ยาประจำฤดูหนาว ช้าพลูมีฤทธิ์เป็นแอนตี้ออกซิเดชั่น ส่วนสะค้านและเจตมูลเพลิงแดงเป็นยารสร้อน เมื่อนำ ๓ ชนิดมารวมกันก็ไม่เป็นอันตราย เจตมูลเพลิงแดงยังมีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งด้วย

ยาเบญจกูล

ดอกดีปลี รากช้าพลู เถาสะค้าน รากเจตมูลเพลิงแดง เหง้าขิงแห้ง ในยาเบญจกูล มีช้าพลู ขิง เป็นแอนตี้ออกซิแดนท์คือตัวยับยั้งการเกิดออกซิเดชั่นในร่างกาย เจตมูลเพลิงแดงมีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็ง
จะเห็นได้ว่า ทั้งยาเบญจกูล ตรีผลา ตรีกฏุก ตรีสารเป็นยาที่จัดหมวดไว้สำหรับหมอแผนโบราณ ใช้ประกอบกระสายยาอื่นๆ มีสูตรยาเป็นจำนวนมาก จะมียาเหล่านี้ประกอบด้วยเสมอ ยาเหล่านี้สามารถใช้ได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยเรื้อรังที่สิ้นหวัง เช่น มะเร็งระยะท้ายๆ หากท่านผู้สนใดสนใจควรปรึกษาหมอโบราณ หรือสถาบันการแพทย์แผนไทยในการจัดเตรียมยาเหล่านี้ให้ถูกขนาด ถูกวิธีสรุปแล้วการใช้ยาสมุนไพรทั้ง ๙ ชนิดนี้ล้วนมีคุณประโยชน์ในการป้องกันการเกิดและการขยายตัวของมะเร็ง และยังฆ่าเซลล์ได้บางชนิด สมควรที่จะได้นำไปวิจัยเพิ่มเติมต่อไป

สมุนไพรไทยและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่แสดงฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็ง

พืชสมุนไพร บวบขม จำปีป่า ปลาไหลเผือก ทองพันชั่ง เจตมูลเพลิงแดง ราชดัด ฝาง แสมสาร ติงตัง ขมิ้นต้น ฟ้าทะลายโจร กระเทียม ประยงค์ รงทอง ข่อย ขมิ้นชัน แกแล สมอไทย ขันทองพยาบาท เครือเถาวัลย์ ดองดึง โล่ติ้น เจตมูลเพลิงขาว มังคุด โทงเทง ทับทิม จำปา ไพล ปรู จำปีหลวง พลับพลึง สบู่ดำ แพงพวยฝรั่ง สีเสียด กะเม็ง สมอพิเภก

สมุนไพรกับโรคความดันโลหิตสูง

สมุนไพรในการรักษาโรคความดันโลหิตสูงยังไม่มีผลงานวิจัยเด่นชัดว่า รักษาโรคความดันโลหิตสูงได้ ในตำราไทยนั้นจะเน้นการป้องกันไม่ให้เกิดโรค โดยนำสมุนไพรมาใช้ปรุงเป็นอาหาร โดยแบ่งกลุ่มสมุนไพรที่มีสรรพคุณตามกลุ่มอาการดังนี้

สรรพคุณสมุนไพรในการขับปัสสาวะ

ในการรักษาโรคความดันโลหิตสูงจะต้องได้รับการควบคุมดูแลจากแพทย์แผนปัจจุบัน และในการนำสมุนไพรมาใช้ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงจะต้องระมัดระวัง และจะต้องตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอจากแพทย์แผนปัจจุบัน สมุนไพรที่ใช้ขับปัสสาวะมีดังนี้

-หญ้าหนวดแมว ในใบของหญ้าหนวดแมวจะมีเกลือโปตัสเซียมปริมาณ o.๗–o.๘% ใช้ใบอ่อนเป็นยาขับปัสสาวะที่มีประสิทธิภาพสูง เนื่องจากเกลือโปตัสเซียมในใบอ่อนจะมีปริมาณสูงตามตำรายาไทยใช้แก้โรคปวดตามสันหลังและเอว ใช้ขับนิ่วและลดความดันโลหิตสูง

ข้อควรระวัง

๑. เนื่องจากหญ้าหนวดแมวมีเกลือโปตัสเซียมสูงจึงไม่ควรใช้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ
๒. ควรใช้การชง ไม่ควรใช้การต้ม และควรใช้ใบอ่อน เพราะใบแก่จะมีเกลือโปตัสเซียมละลายออกมามาก มีฤทธิ์กดหัวใจ ทำให้หายใจผิดปกติได้
๓. ควรใช้ใบตากแห้ง ถ้าใช้ใบสดจะมีอาการคลื่นไส้ และหัวใจสั่น
๔. ไม่ควรใช้หญ้าหนวดแมวคู่กับยาแอสไพริน เพราะจะทำให้ยามีฤทธิ์ต่อหัวใจมากขึ้น
๕. ก่อนการใช้ควรปรึกษาแพทย์แผนปัจจุบันและได้รับการดูแลอย่างสม่ำเสมอเพื่อความปลอดภัย

-หญ้าคา ในรากหญ้าคามีสารอะรันโดอิน และไซลินดรินทั้งกรดอินทรีย์หลายชนิด ตามตำรยาไทยใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา โดยต้นหญ้าคาขนาดสด ๔o-๕o กรัม (น้ำหนักแห้ง ๑o-๑๕ กรัม) หรือ ๑ กำมือ ต้มดื่มก่อนอาหารวันละ ๓ ครั้งๆ ละ ๑ ถ้วยชา (๗๕ มิลลลิตร)
-ขลู่ ในใบขลู่จะมีสารประกอบเกลือแร่ โซเดียมคลอไรด์ ตามตำรายาไทยใช้ทั้งต้นต้มกินเป็นยาขับปัสสาวะแก้อาการขัดเบา จากการศึกษา ทดลองในสัตว์ทดลองและในคนปกติพบว่ายาชงทั้งต้นของขลู่มีประสิทธิภาพขับปัสสาวะได้โดยใช้ทั้งต้นสดหรือแห้งวันละ ๑ กำมือ ดื่มวันละ ๓ ครั้งๆละ ๑ ถ้วยชา (๗๕ มิลลิลิตร) ก่อนอาหาร หรือใช้ใบแห้งครึ่งกำมือ คั่วให้เหลือง ชงน้ำดื่มแทนน้ำชา

หมายเหตุ การใช้สมุนไพรขับปัสสาวะทุกชนิด ต้องปรึกษาแพทย์แผนปัจจุบัน เนื่องจากการใช้ยาขับปัสสาวะเกินขนาดอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้

สรรพคุณสมุนไพรที่ช่วยลดไขมันในหลอดเลือด

ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูงเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง สมุนไพรที่สามารถลดระดับไขมันในหลอดเลือด มีดังนี้

๑. น้ำมันเมล็ดดอกคำฝอย จากการวิจัยในสัตว์ทดลองและในคนพบว่าน้ำมันเมล็ดดอกคำฝอย ช่วยทำให้ปริมาณโคเลสเตอรอลในเลือดลดลง และลดการอุดตันไขมันในหลอดเลือดได้
๒. กระเทียม มีสารอัลลิซินที่มีฤทธิ์ลดไขมันในหลอดเลือดได้ ซึ่งจะใช้กระเทียมประมาณ ๕-๗ กลีบ รับประทานหลังอาหารทุกมื้อ เป็นเวลา ๑ เดือน ปริมาณโคเลสเตอรอลในเลือดจะลดลง
๓. ถั่วเหลือง ในถั่วเหลืองจะมีกรดอะมิโน เลซิติน และวิตามินอีสูง จะช่วยลดระดับไขมันในหลอดเลือด

สรรพคุณสมุนไพรในการคลายเครียดนอนไม่หลับ

-ขี้เหล็ก ใบอ่อนและดอกมีสารจำพวกโครโมนและสารแอนตร้าควิโนน มีฤทธิ์เป็นยาระบาย จากการศึกษาในสัตว์ทดลอง โดยสกัดสารจากใบขี้เหล็กด้วยแอลกอฮอล์พบว่ามีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลางของสัตว์ทดลอง และศึกษาโดยใช้กับผู้ป่วย ที่มีอาการกระวนกระวายนอนไม่หลับ พบว่าช่วยให้นอนหลับและระงับอาการตื่นเต้นทางประสาทได้แต่ไม่ใช่ยานอนหลับโดยตรง และไม่พบอาการเป็นพิษโดย ให้ใช้ใบขี้เหล็กแห้งหนัก ๓o กรัม หรือใบสดหนัก ๕o กรัม ต้มเอาน้ำดื่มก่อนนอน
-ระย่อมน้อย ในตำรายาไทยใช้รากระย่อมเป็นยาแก้ไข้ เจริญอาหาร ทำให้นอนหลับระย่อมมีฤทธิ์กล่อมประสาท มักใช้ผสมเป็นยาเจริญอาหาร เป็นยาที่ทำให้เจริญอาหารช่วยให้นอนหลับ ในการใช้เพื่อลดความดันโลหิต เนื่องจากในรากระย่อมมีแอลคาลอยด์ ที่สำคัญคือ เรเซอปิน ซึ่งมีฤทธิ์ลดความดันโลหิตได้ผลดี

หมายเหตุ การใช้ยาสมุนไพรในการลดความดันโลหิตจะต้องได้รับการตรวจการรักษาและคำแนะนำจากแพทย์แผนปัจจุบันเพื่อความปลอดภัย

สรุป การรักษาโรคความดันโลหิตสูงที่ดีก็คือ การกำจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค แต่เนื่องจากโรคความดันโลหิตสูงที่พบส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนและสลับซับซ้อนการใช้ยาสมุนไพรในการรักษาโรค จำเป็นต้องระมัดระวังในการเปลี่ยนหรือทดแทนยาแผนปัจจุบันเดิมควรปรึกษาแพทย์แผนปัจจุบันเป็นระยะ เพื่อความปลอดภัย

การปฏิบัติเพื่อป้องกันการเกิดโรค เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ

๑. การรับประทานอาหารที่มีไขมันน้อย เช่น ปลา ผัก ผลไม้ อาหาร สมุนไพรไม่รับประทานอาหารรสเค็มจัด
๒. การออกกำลังกายสม่ำเสมอ
๓. การพักผ่อนให้เพียงพอ
๔. ตรวจร่างกายประจำทุกปี

สมุนไพรกับโรคเบาหวาน

การควบคุมโรคเบาหวาน  โรคเบาหวานเกิดจากการที่ร่างกายมีฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอที่จะนำน้ำตาลในกระแสเลือดไปใช้เป็นประโยชน์ได้ ทำให้น้ำตาลในเลือดมีระดับสูงกว่าปกติ และถ้าสูงมากก็จะขับออกมากับปัสสาวะเมื่อเป็นโรคนี้แล้วจะส่งผลต่ออวัยวะหลายส่วน เช่น ตา ไต หัวใจ ประสาท และเป็นแผลเรื้อรัง หมดความรู้สึกทางเพศ

เบาหวานเป็นโรคเรื้อรังรักษาไม่หายขาดแต่ผู้ป่วยจะดำรงชีวิตเป็นปกติสุขได้โดยปฏิบัติดังนี้
๑. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารโดย 
     ลด   - การกินน้ำตาล อาหารที่มีน้ำตาล มีกะทิ อาหารทอด เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
     ใช้   - น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลืองแทนน้ำมันหมู น้ำมันมะพร้าวในการปรุงอาหาร กินปลาและ
               เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ผลไม้ที่ไม่หวานจัด กินผักมากๆ และข้าวซ้อมมือไม่เกินมื้อละ ๓ ทัพพี
     เลิก - สูบบุหรี่
๒. ควบคุมน้ำหนักตัวให้ปกติ

๓. ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ ๓ วันๆ ละไม่ต่ำกว่า ๒o นาที
๔. ปฏิบัติตนตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

ยาแผนปัจจุบันสำหรับโรคเบาหวานมีราคาแพง

ซึ่งเป็นภาระหนักของผู้ป่วยที่ยากจนฉะนั้นการใช้สมุนไพรจึงเป็นทางเลือกทางหนึ่ง สมุนไพรที่ประชาชนทั่วไปใช้รักษาเบาหวานด้วยตัวเอง โดยใช้ตามคำบอกเล่าจากบุคคลใกล้ชิด ส่วนใหญ่มักมีรสขม เช่น บอระเพ็ด มะระไทย ฟ้าทะลายโจร ฯลฯ ซึ่งใกล้เคียงกับหลักการทางทฤษฎียาไทยที่ว่า รสขมเพื่อดีและโลหิต แต่ก็มีบางชนิดที่ไม่มีรสขม แต่มีผู้ใช้ได้ผลกันมาก ได้แก่ ว่านหางจระเข้ แมงลัก กระเทียม หญ้าหนวดแมว เป็นต้น

สมุนไพรที่กล่าวถึงนี้ มีนักวิทยาศาสตร์สนใจทดลองมาก สรุปคร่าวๆ เป็น ๔ กลุ่ม คือ

๑. ใช้กันมากแต่ไม่มีผู้ทำการทดลอง ได้แก่ บอระเพ็ด
๒. ผลการทดลองในสัตว์ ไม่แสดงฤทธิ์ในการลดน้ำตาล แต่ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยยืนยันว่ารักษาเบาหวานได้จริงได้แก่ อินทนินน้ำ และฟ้าทะลายโจร
๓. จากการทดลองในสัตว์พบว่า ลดน้ำตาลได้จริง ได้แก่ มะระไทย ตำลึง กระเทียม ฝรั่ง มะแว้งต้น มะแว้งเครือ ลูกใต้ใบและหญ้าใต้ใบ
๔. การทดลองในมนุษย์ยังสรุปไม่ได้ว่าสามารถใช้แทนยาปัจจุบัน แต่น่าสนใจที่จะใช้เสริมในการรักษาได้แก่ว่านหางจระเข้ แมงลัก หอมใหญ่ หญ้าหนวดแมว สำหรับบอระเพ็ดนั้น ได้ทดลองใช้กับคนไข้ที่เป็นเบาหวานมาหลายปี ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ระหว่าง ๒oo-๓oo มิลลิกรัม มีอาการเวียนศรีษะ อ่อนเพลีย เป็นประจำ โดยให้บอระเพ็ดแคปซูลกินครั้งละ ๒ เม็ด วันละ ๓ ครั้ง เรื่อยไป อาการอ่อนเพลีย เวียนศรีษะหายไป จากที่เคยมีระดับน้ำตาลในเลือดถึง ๔+ ปรากฏว่าน้ำตาลในปัสสาวะไม่มี แม้ว่าผลการทดลองสมุนไพรต่างๆ สำหรับเบาหวานยังไม่สามารถสรุปลงไปได้ว่า มีสมุนไพรตัวใดที่จะใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบันได้ หนทางการใช้สมุนไพรในกลุ่มนี้ก็ยังไม่ได้มืดมนเสียทีเดียว ถ้าแพทย์และผู้ป่วยให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน โดยยินยอมให้ผู้ป่วยที่สมัครใจใช้สมุนไพรควบคู่กับยาแผนปัจจุบันอาจเลือกใช้สมุนไพรอย่างง่ายๆ เช่น ใช้พืชที่เป็นอาหารอยู่แล้ว หรือที่ใช้กันมานานโดยไม่มีอันตราย โดยแพทย์ควบคุมปริมาณการใช้ยาแผนปัจจุบันอย่างใกล้ชิดในช่วงแรก ย่อมทำให้เกิดกำลังใจแก่ผู้ป่วยที่มา: ชุมนุมแพทย์แผนไทยและสมุนไพรแห่งชาติ

สรุปรายชื่อสมุนไพร ที่ควรใช้ในรูปอาหารกับโรคเบาหวาน ได้แก่


บอระเพ็ด มะระไทย ลูกใต้ใบ หญ้าใต้ใบ  มะแว้งเครือ มะแว้งต้น ตำลึง ฟ้าทะลายโจร สะตอ ว่านหางจระเข้ แมงลัก อินทนินน้ำ หอมใหญ่ กระเทียม หญ้าหนวดแมว เตยหอม ฝรั่ง ช้าพลู ขี้เหล็ก สะเดา
ผักบุ้ง สัก กำแพงเจ็ดชั้น มวกแดง-ขาว ชะเอมไทย รากลำเจียก รากคนทา


หมายเหตุ การรักษาโรคเบาหวาน ควรปรึกษาแพทย์แผนปัจจุบัน เพราะการใช้ยาลดระดับน้ำตาลร่วมกับยาแผนปัจจุบันอาจจะทำให้น้ำตาลลดลงมากเกินไป เป็นอันตรายได้ จึงแนะนำให้ใช้สมุนไพรในรูปของการปรุงอาหารในชีวิตประจำวัน


สมุนไพรกับโรคเอดส์


เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันมีการระบาดอย่างรุนแรงของเชื้อไวรัสHIVอันนำมาสู่สภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เมื่อได้รับเชื้อไวรัสแล้วภูมิคุ้มกันโรคของผู้นั้นจะเสื่อม ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ จนเสียชีวิตในที่สุด
วงการแพทย์ทั่วโลกต่างก็แสวงหาวิธีรักษาโรคร้ายนี้กันอย่างกว้างขวาง แต่ก็ยังไม่พบวิธีหรือยาที่จะฆ่าเชื้อเอดส์ได้ ทางเลือกอีกทางหนึ่งคือ ยาสมุนไพร ในประเทศไทยมีหลายหน่วยงานที่ดำเนินการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับยาสมุนไพรสำหรับโรคเอดส์ เช่น สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ สถาบันการแพทย์แผนไทย ฯลฯ ทางด้านประชาชนก็มีการทดลอง อีกทั้งพระภิกษุ หมอพื้นบ้าน ได้พยายามนำสมุนไพรมารักษาผู้ป่วยกันหลายราย
การค้นคว้าเน้นไปที่การหายาฆ่าเชื้อเอดส์ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องแก้ ปัญหาโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้แก่ เป็นไข้ ไอ ท้องเสีย โรคเริม ปากเป็นแผล ติดเชื้อราต่างๆ ผู้ป่วยสามารถ เลือกใช้ยาสมุนไพรตามอาการของโรคที่แทรกซ้อนได้ สมุนไพรเหล่านี้ไม่ได้เป็นยารักษาโรคเอดส์โดยตรง แต่ก็บรรเทาอาการของโรคได้
รายงานการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับ สมุนไพรรักษาโรคเอดส์ มีการศึกษาเกี่ยวกับสมุนไพรหลายชนิด


Trichosanthes kirilowii


ซึ่งมีชื่อสามัญว่า Chinese snake guard พืชสกุลนี้ในเมืองไทยมีหลายชนิดได้แก่ บวบงู ขี้กาขาว ขี้กาแดง หรือกระดึงช้างเผือก ขี้กาดิน
การศึกษาวิจัยพืชนี้ในการรักษาโรคเอดส์ส่วนใหญ่ทำในสาธารณรัฐประชาชนจีนแต่ได้มีรายงานจากสหรัฐอเมริกา ในปี ๑๙๘๙ โดย Mc. Grath ถึงการค้นพบโปรตีนจากรากของพืชนี้ ชื่อ Trichosanthin GLO 223 หรือ compound Q ซึ่งมีคุณสมบัติในการยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส HIV
แต่ก็มีผู้รายงานความเป็นพิษของ Trichosanthin เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูทดลองทำให้หนูตายครึ่งหนึ่งของจำนวนการทดลองขณะนี้เชื่อกันว่าถ้าให้รับประทาน Trichosanthin อาจไม่เกิดพิษ เช่นการฉีด Trichosanthin

โปรตีนจากระหุ่ง


แม้ว่าจะมีพิษ แต่ก็มีผู้พบว่าส่วนหนึ่งของโปรตีน Ricin ซึ่งเป็นพิษ คือ dg A สามารถจับ antibody ของ HIV ซึ่งทำให้ไปยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัส โดยมีผลต่อเซลล์ปกติเพียง ๑/๑,ooo ของเซลล์ที่มีไวรัส
การค้นพบนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นในการพบยาที่ป้องกันหรือยืดเวลาในการเกิดโรคเอดส์

Hypericum spp.


พืชสกุลนี้บ้านเรามี บัวทอง(Hypericum garrettii Craib) มีผู้สกัดสาร Hypericin และ Pseudohypericin จากพืชนี้ พบว่ามีฤทธิ์ป้องกันการขยายตัวของไวรัสเอดส์

Castanospermun australe


Tyms และคณะได้พบว่าแอลคาลอยด์ ๓ ชนิด มีผลยับยั้งเอนไซม์ที่ช่วยให้ไวรัสจับกับ T-cells ซึ่งสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย และแอลคาลอยด์ ที่ให้ผลดีที่สุดคือ Castanospermine จาก Castanospermum australe ไม้ยืนต้นของออสเตรเลีย และสารนี้มีพิษน้อย มีฤทธิ์ข้างเคียง เช่น น้ำหนักลด ท้องเสีย
ยังไม่มีสมุนไพรใดที่ใช้รักษาโรคเอดส์ได้จริงจัง ส่วนใหญ่ยังอยู่ระหว่างการทดลอง ซึ่งบางอย่างก็ทดลองโดยไม่ถูกกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตาม การศึกษาสมุนไพรก็เป็นแนวทางหนึ่งในการก็จะค้นพบยารักษาโรคนี้


อาหารสมุนไพรและอาหารหลัก ๕ หมู่สำหรับผู้ป่วยเอดส์


โดยปรัชญาการแพทย์แผนไทยแล้ว เน้นการรักษาแบบองค์รวม คือ ความสมดุลของร่างกายระหว่างธาตุ ภายใน และภายนอก โดยเชื่อว่าเมื่อร่างกายสมดุล ย่อมไม่เจ็บป่วย ผู้ติดเชื้อเอดส์ควรบริโภคอาหารสมุนไพรเสริมสร้างภูมิต้านทานเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและชลอความทรุดโทรมของร่างกาย
อาหารสมุนไพรที่ควรรับประทาน ได้แก่ เผือก เดือย กลอย มัน ถั่วต่างๆ งาดำ เมล็ดทานตะวัน ข้าวซ้อมมือ ข้าวโพด ฟักทอง หัวแครอท น้ำมันรำข้าว น้ำมันดอกคำฝอย นม กล้วยน้ำว้า มะละกอ ผักสีเขียว มะขามป้อม มะเขือเทศ ฝรั่ง ว่านหางจระเข้ น้ำผึ้ง มะกรูด เห็ดต่างๆ กระเทียม และเครื่องเทศทุกชนิด

บริโภคอาหารให้ครบ ๕ หมู่ ได้แก่


-โปรตีน มีอยู่ในตับ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว นม ไข่ เนื้อสัตว์ ปลา เป็นต้น
-คาร์โบไฮเดรต มีอยู่ในแป้งต่างๆ น้ำตาล ข้าว ขนมปัง เผือก มัน เป็นต้น
-วิตามิน มีอยู่ในผักใบเขียวทุกชนิด ฟักทอง มะเขือเทศ และผักอื่นๆ
-เกลือแร่ มีอยู่ในผลไม้ทุกชนิด เช่น กล้วย ส้ม มะละกอ ฝรั่ง สับประรด ฯลฯ
-ไขมัน มีอยู่ในน้ำมันจากพืชและสัตว์ เช่น น้ำมันหมู กะทิ น้ำมันงา ฯลฯ

การนำสมุนไพรมาใช้รักษาโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยเอดส์


-ใช้ยาสมุนไพรตามหลักทฤษฎีการปรับสมดุลของธาตุในคัมภีร์มหาพิกัดโดยผู้สั่งยานี้ต้องเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะแผนโบราณ
-ใช้ยาสมุนไพรตามตำรับยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ ๒๘ ขนาน ที่กระทรวงสาธารณสุขอนุญาต เพื่อใช้รักษาตามอาการ เช่น ยาจันทน์ลีลา (แก้ไข้)
-ใช้ยาสมุนไพรเดี่ยว รักษาตามอาการซึ่งอาจพบบ่อย ได้แก่
  สมุนไพรแก้ไข้ เช่น ฟ้าทะลายโจร บอระเพ็ด
  สมุนไพรแก้เริม เช่น เสลดพังพอนตัวเมียและตัวผู้
  สมุนไพรแก้ท้องเสีย เช่น กล้วยน้ำว้า ทับทิม ฝรั่งดิบ
  สมุนไพรแก้ไอ เช่น มะแว้ง ขิง มะนาว
  สมุนไพรแก้ท้องอืดเฟ้อ เช่น ขมิ้นชัน แห้วหมู กระชาย
  สมุนไพรแก้เชื้อรา เช่น กระเทียม ข่า ชุมเห็ดเทศ
  สมุนไพรช่วยให้นอนหลับได้ เช่น ใบขี้เหล็ก ดอกบัวหลวง หัวหอมใหญ่

ประโยชน์สมุนไพรเพื่อความงามละสุขภาพ

สมุนไพรเพื่อความงามละสุขภาพ


หากพูดถึง "ความงาม" แล้ว คุณผู้หญิงหรือท่านผู้ชายก็คงจะไม่ปฏิเสธว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปัจจัยอื่นในการดำรงชีวิต แต่ถ้าเราจะมองกันไปแล้ว "ความงาม" นั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อตัวของเรามีสุขภาพจิตและสุขภาพกายดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน โดยปกติสุขภาพจะดีมาก-น้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อม การรับประทานอาหาร และการดำรงชีวิตอย่างปกติสุข เมื่อร่างกายกินได้ ถ่ายคล่อง ผิวพรรณดี และสุขภาพแจ่มใส " ความงาม" ก็จะบังเกิดขึ้นได้อย่างไม่ต้องสงสัย

สมุนไพรเพื่อความงามสำหรับผิวหน้า

ใบหน้า คือ ด่านแรกที่เป็นเสน่ห์ดึงดูดใจของผู้พบเห็น แต่หลายๆคนกำลังประสบปัญหาผิวหน้าไม่เรียบสวย เพราะเม็ดสิวและรอยแห้งกร้านด้วยจุดด่างดำของกระและฝ้า จนต้องเสียเงินทองมากมายเพื่อเข้าสถานเสริมความงาม หรือหาซื้อยามารักษา จึงอยากแนะนำให้ใช้สมุนไพรพืชผักและผลไม้ที่มีอยู่ทั่วไป แต่มีคุณประโยชน์มากมายทั้งวิตามิน แร่ธาตุ และสารบำรุงผิวธรรมชาติที่ช่วยดูแลผิวพรรณให้ชุ่มชื้นผ่องใสอ่อนไวอยู่เสมอ

1. ว่านหางจระเข้ (Aloe indica Royle)
คุณค่าของว่านหางจระเข้มีมากมาย นอกจากใช้รักษาโรคแล้ว ยังใช้บำรุงผิว บำรุงเส้นผมได้ด้วย ปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า มีแชมพูสระผม และเครื่องสำอางหลายอย่าง ที่ใช้ว่านหางจระเข้เป็นส่วนประกอบ และกำลังเป็นที่นิยมของคนทั่วไป เนื่องจากว่านหางจระเข้ มีคุณสมบัติสามารถช่วยให้กระบวนการเมตะโบลิซึม ทำงานได้เป็นปกติ ลดการติดเชื้อ สลายพิษของเชื้อโรค กระตุ้นการเกิดใหม่ ของเนื้อเยื่อส่วนที่ชำรุด ฉะนั้น ว่านหางจระเข้จึงถูกนำมาใช้ เพื่อบำรุงผิวพรรณ ผู้ที่ใช้ว่านหางจระเข้บำรุงผิวพรรณอยู่เป็นประจำ จะรู้สึกได้ชัดว่า ว่านหางจระเข้มีส่วนช่วย ให้ผิวพรรณผุดผ่อง สดชื่น มีน้ำมีนวล และยังสามารถขจัดสิว และลบรอยจุดด่างดำได้ด้วย

การใช้ว่านหางจระเข้ เพื่อบำรุงผิว โดยปอกเปลือกออก ใช้แต่เมือกวุ้นสีขาวใส ที่อยู่ภายใน ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการแพ้ ก่อนใช้ควรตรวจสอบว่า ตนเองจะเกิดอาการแพ้หรือไม่ โดยใช้น้ำที่ได้จากวุ้นสีขาว ของว่านหางจระเข้ ทาตรงบริเวณโคนหู แล้วทิ้งไว้สักครู่ ถ้าเกิดการระคายเคืองเป็นผื่นแดง แสดงว่าไม่แพ้ ไม่เหมาะที่จะใช้กับผิวหน้าอีกต่อไป ถ้าไม่มีอาการแพ้ ก็สามารถใช้ได้ตลอด แต่บางคนก็จะเห็นผลได้เหมือนกัน เมื่อใช้ว่านหางจระเข้ทาบริเวณหัวสิว จะทำให้หัวสิวแห้งเร็ว

นอกจากนี้ ว่านหางจระเข้ยังสามารถลดความแห้งกร้าน และลดความมันของผิวหน้าได้ โดยคนที่มีผิวมัน ก็จะช่วยให้ลดความมัน คนที่มีผิวหน้าแห้ง ก็ยังรักษาความชุ่มชื่นของผิวไว้ได้

2. งา (Sesamum indicum Linn. S. orientle. L)

เป็นพืชล้มลุก ให้เมล็ดเป็นจำนวนมาก เมล็ดงามีทั้งสีดำ และสีขาว ในเมล็ดงามีน้ำมันอยู่ ประมาณ 45-54% น้ำมันงามีกลิ่นหอมน่ารับประทาน วิธีใช้ โดยการนำเอาเมล็ดงาสด มาบีบน้ำมันงาออก โดยไม่ผ่านความร้อน ใช้ทาผิวหนัง เพื่อบำรุงผิวพรรณ ให้ผุดผ่อง ช่วนประทินผิวให้นุ่มนวล ไม่หยาบกร้าน

3. แตงกวา (Cucumis sativas Linn.)

จะมีวิตามินสูง ในผลแตงกวายังมีเอ็นไซม์ cryssin ซึ่งช่วยย่อยโปรตีนได้ เอ็นไซม์ชนิดนี้ จะช่วยย่อยผิวหนังที่หยาบกร้าน ให้หลุดออกไป เพื่อให้ผิวใหม่ที่อ่อนนุ่ม เกิดขึ้นมาแทนที่ บางคนใช้แตงกวาสด ผ่าเป็นชิ้นบางๆ วางบนใบหน้าที่ล้างสะอาด แทนน้ำแตงกวา ปัจจุบัน มีน้ำแตงกวาผสมในเครื่องสำอาง เช่น ครีมล้างหน้า ครีมทาตัว เพื่อช่วยให้ผิวไม่หยาบกร้าน และช่วยสมานผิว แตงกวาเป็นสมุนไพร ที่หาง่าย มีประโยชน์ ราคาถูก ใช้ติดต่อกับเป็นประจำ จะทำให้สวนสดชื่น มีน้ำมีนวล

4. มะเขือเทศ (Lycopersicon esculentum Mill.)

ในมะเขือเทศ จะมีสาร Curotenoid และมีวิตามินหลายชนิด น้ำจากผลมะเขือเทศสุก จะมีสาร licopersioin ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา และแบคทีเรีย และน้ำมะเขือเทศสด นำมาพอกหน้า จะรักษาสิวสมานผิวหน้าให้เต่งตึง หรืออาจจะฝานบางๆ แปะลงบนผิวหน้าก็ได้

5. ขมิ้นชัน (Curcuma Longa Linn.)

ในขมิ้น จะมีสาร Curcumin และมีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งมีกลิ่นเฉพาะ ขมิ้นมีฤทธิ์ยับยั้ง การเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อราหลายชนิด ใช้ทาผิวที่มีผดผื่นคัน ผงขมิ้นใช้ทาตัว เพื่อให้มีสีเหลืองทอง ใช้บำรุงผิว และช่วยฆ่าเชื้อ ที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังบางชนิด ได้อีกด้วย

6. น้ำผึ้ง (Apis dorsata)

ได้จากผึ้ง ประกอบด้วยน้ำตาลกลูโคส ฟรุคโตส ขี้ผึ้ง อัลบูมินอยด์ ละอองเกสรดอกไม้ และฮอร์โมนเอสโตรเจน จำนวนเล็กน้อย น้ำผึ้งใช้เป็นส่วนประกอบ ของเครื่องสำอาง ใช้พอกหน้า ทำให้ผิวหน้าชุ่มชื่น เปล่งปลั่งมีน้ำมีนวลขึ้น น้ำผึ้งยังมีคุณสมบัติช่วยสมานผิว น้ำผึ้ง เป็นเครื่องสำอางจากธรรมชาติ ที่ให้ประโยชน์สูง และหาง่าย นอกจากนี้ ยังใช้น้ำผึ้งบำรุงผม ฮอร์โมนเอสโตรเจน จะช่วยบำรุงหนังศีรษะ และกระตุ้นการงอกของเส้นผม

7. มะขามเปียก (Tamarindus indica Linn)

มะขามเปียกมีประวัติการใช้มายาวนาน ช่วยชำระสิ่งสกปรกจากผิวหนัง เพราะฤทธิ์ที่เป็นกรดอ่อนๆ ในมะขาม จะช่วยขจัดสิ่งสกปรกจากผิวหนังได้ดี ปัจจุบัน ได้มีหญิงไทยจำนวนมาก ใช้มะขามเปียกผสมน้ำอุ่น และนมสดให้เข้ากันดี พอกบริเวณผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นรอยด้าน เช่น ตาตุ่ม ข้อศอก ฝ่ามือ ที่มีรอยกร้านดำ และบริเวณรักแร้ ขาหนีบ เพื่อให้ผิวหนังที่เป็นรอยดำจางลง ทำให้ผิวขาวนุ่มนวลขึ้น และนมสดจะช่วยบำรุงผิว ให้นุ่มได้

สูตรสมุนไพรบำรุงผิวหน้า

1.ว่านหางจระเข้: บำรุงผิว ป้องกันฝ้า ลบรอยจุดด่างดำ รักษาสิว
2.แตงกวา:สมานผิว ลบรอยเหี่ยวย่น
3.มะเขือเทศ: สมานผิว ลดรอยเหี่ยวย่น จุดด่างดำ
4.ขมิ้นสด: บำรุงผิวหน้าผุดผ่องสดใสอ่อนวัย และช่วยให้สิวยุบเร็ว
5.กล้วยน้ำว้าสุก: บำรุงผิวนุ่มเนียนอ่อนไว
6.หัวไชเท้า: ช่วยลดรอยฝ้าและกระให้จางหาย

ลักษณะของพืชสมุนไพร

ลักษณะของพืชสมุนไพร


"พืชสมุนไพร" โดยทั่วไปนั้น แบ่งออกเป็น 5 ส่วนสำคัญด้วยกัน คือ
1. ราก
2. ลำต้น
3. ใบ
4. ดอก
5. ผล

"พืชสมุนไพร" เหล่านี้มีลักษณะลำต้น ยอด ใบ ดอก ที่แตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ แต่ส่วนต่างๆ ก็ทำหน้าที่เช่นเดียวกัน เช่นรากก็ทำหน้าที่ดูดอาหาร มาเลี้ยงลำต้นกิ่งก้านต่างๆและใบกับส่วนต่างๆนั่นเองใบก็ทำหน้าที่ปรุงอาหารดูดออกซิเจน คายคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ดอก ผล เมล็ด ก็ทำหน้าที่สืบพันธุ์กันต่อไป เพื่อทำให้พืชพันธุ์นี้แพร่กระจายออกไปเรื่อยๆไม่มีที่สิ้นสุด

ส่วนต่างๆของพืชที่ใช้เป็นพืชสมุนไพร

1. ราก รากของพืชมีมากมายหลายชนิดเอามาเป็นยาสมุนไพรได้อย่างดี เช่นกระชายขมิ้นชัน ขิง ข่า เร่ว ขมิ้นอ้อย เป็นต้น รูปร่างและลักษณะของราก แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

1.1 รากแก้ว ต้นพืชมากมายหลายชนิดมีรากแก้วอยู่นับ ว่าเป็นรากที่สำคัญมากงอกออกจาลำต้นส่วนปลายรูปร่างยาวใหญ่ เป็นรูปกรวยด้านข้างของรากแก้วจะแตกแยกออกเป็นรากเล็กรากน้อยและ รากฝอยออกมาเป็นจำนวนมากเพื่อทำการดูดซึมอาหารในดินไปบำรุงเลี้ยงส่วนต่างๆของต้นพืชที่มีรากแก้วได้แก่ ต้นขี้เหล็ก ต้นคูน เป็นต้น

1.2 รากฝอย รากฝอยเป็นส่วนที่งอกมาจากลำต้นของพืชที่ส่วนปลายงอกออกมาเป็นรากฝอยจำนวนมากลักษณะรากจะกลมยาวมีขนาดเท่าๆกันต้นพืชที่มีใบเลี้ยงเดี่ยวจะมีรากฝอย เช่น หญ้าคา ตะไคร้ เป็นต้น

2. ลำต้น นับว่าเป็นโครงสร้างที่สำคัญของต้นพืชทั้งหงายที่มีอยู่สามารถค้ำยันเอาไว้ได้ไม่ให้โค่นล้มลงโดยปกติแล้วลำต้นจะอยู่ บนดินแต่บางส่วนจะอยู่ใต้ดินพอสมควร รูปร่างของลำต้นนั้นแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ ตา ข้อ ปล้อง บริเวณเหล่านี้จะมีกิ่งก้าน ใบดอกเกิดขึ้นอีกด้วยซึ่งจะทำให้พืช มีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปชนิดของลำต้นพืช แบ่งตามลักษณะภายนอกของลำต้นได้เป็น

-ประเภทไม้ยืนต้น
-ประเภทไม้พุ่ม
-ประเภทหญ้า
-ประเภทไม้เลื้อย

3. ใบ ใบเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของต้นพืชทั่วไป มีหน้าที่ทำการสังเคราะห์แสง ผลิตอาหารและ เป็นส่วนที่แลกเปลี่ยนน้ำ และอากาศให้ต้นพืชใบเกิดจากการงอกของกิ่งและตาใบไม้โดยทั่วไปจะมีสีเขียว (สีเขียวเกิดจากสารที่มีชื่อว่า"คอลโรฟิลล์"อยู่ในใบของพืช)ใบของพืชหลายชนิดใช้เป็นยาสมุนไพรได้ดีมาก รูปร่างและลักษณะของใบนั้น ใบที่สมบูรณ์มีส่วนประกอบรวม 3 ส่วนด้วยกันคือ
-ตัวใบ
-ก้านใบ
-หูใบ

ชนิดของใบ แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ

**1.ชนิดใบเลี้ยงเดี่ยว หมายถึงก้านใบอันหนึ่ง มีเพียงใบเดียว เช่น กานพลู ขลู่ ยอ กระวาน
**2.ชนิดใบประกอบ หมายถึงตั้งแต่ 2 ใบขึ้นไปที่เกิดขึ้นก้านใบอันเดียว มีมะขามแขก แคบ้าน ขี้เหล็ก มะขาม เป็นต้น

4. ดอก ส่วนจองดอกเป็นส่วนที่สำคัญของพืชเพื่อเป็นการแพร่พันธุ์ของพืชเป็นลักษณะเด่นพิเศษของต้นไม้แต่ละชนิด ส่วนประกอบของดอกมีความแตกต่างกันตามชนิดของพันธุ์ไม้และลักษณะที่แตกต่างกันนี้เป็นข้อมูลสำคัญในการจำแนกประเภทของ ต้นไม้รูปร่างลักษณะของดอก

ดอกจะต้องมีส่วนประกอบที่สำคัญ 5 ส่วนคือ
-1.ก้านดอก
-2. กลีบรอง
-3. กลีบดอก
-4. เกสรตัวผู้
-5. เกสรตัวเมีย

5. ผล ผลคือส่วนหนึ่งของพืชที่เกิดจากการผสมเกสรตัวผู้กับเกสรตัวเมียในดอกเดียวกันหรือคนละดอกก็ได้ มีลักษณะรูปร่างที่แตกต่างกันออกไปตามประเภทและสายพันธุ์รูปร่างลักษณะของผลมีหลายอย่าง ตามชนิดของต้นไม้ที่แตกต่างกัน แบ่งตามลักษณะของการเกิดได้รวม 3 แบบ
-1. ผลเดี่ยว หมายถึง ผลที่เกิดจากรังไข่อันเดียวกัน
-2. ผลกลุ่ม หมายถึง ผลที่เกิดจากปลายช่อของรังไข่ในดอกเดียวกัน เช่น น้อยหน่า
-3. ผลรวม หมายถึง ผลที่เกิดมาจากดอกหลายดอก เช่น สับปะรด

มีการแบ่งผลออกเป็น 3 ลักษณะคือ
-1. ผลเนื้อ
-2. ผลแห้งชนิดแตก
-3. ผลแห้งชนิดไม่แตก

วิธีทำยา

วิธีทำ


เตรียมตัวยา

นำตัวยาที่ผ่านการอบให้แห้ง และฆ่าเชื้อแล้ว มาบดให้ละเอียด

เตรียมน้ำผึ้ง

น้ำผึ้งที่ใช้ควรเป็นน้ำผึ้งแท้ น้ำผึ้งที่นิยมใช้ตามแบบโบราณ ควรเป็นน้ำผึ้งแบบธรรมชาติ ที่มีส่วนผสมของนมผึ้งเกสรดอกไม้ และสารต่างๆครบถ้วน ไม่นิยมใช้ผึ้งเลี้ยงที่ถูกดูดเอาส่วนสำคัญออกหมดแล้ว นิยมใช้สดๆ ไม่นำไปผ่านความร้อน เพราะจะทำให้สารอาหารและแร่ธาตุบางตัวสลายไป แต่การใช้น้ำผึ้งแบบนี้ ยาที่ได้จะเก็บไว้ได้ไม่นาน มักจะผสมปั้นเม็ดเก็บไว้ใช้ไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ ถ้าจะเก็บไว้นานๆ ต้องนำไปอบให้แห้งสนิท ในอุณหภูมิประมาณ 60 องศาเซลเซียส วิธีนี้จะได้สรรพคุณครบถ้วนตามแผนโบราณ ในปัจจุบัน เพื่อให้สามารถเก็บยาได้นาน จะต้องนำน้ำผึ้งมาเคี่ยวให้งวดลงจนได้ความเหนียวตามต้องการ จึงนำมาใช้ผสมยา

ตักยาที่บดเป็นผงแล้วใส่ในภาชนะตามปริมาณที่ต้องการ เทน้ำผึ้งลงไปทีละน้อย ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน ต้องระวังอย่าให้แฉะ แล้วทิ้งไว้สักครู่เพื่อให้น้ำผึ้งซึมเข้าในตัวยาอย่างทั่วถึง จึงนำมาปั้นเม็ด โดยใช้รางไม้ หรือเครื่องปั้นเม็ดจะได้ยาเม็ดกลมที่เรียกว่า ยาลูกกลอน หรือนำมาอัดเม็ด ด้วยแม่พิมพ์กดด้วยมือ จะได้ยาเม็ดแบน

นำเมล็ดยาที่ได้ไปผึ่ง ในที่โล่ง 1-2 วัน หรืออบในอุณหภูมิประมาณ 60-องศาเซลเซียส 8-12 ชั่วโมง เมื่อแห้งสนิทดีแล้ว บรรจุในขวดสะอาดแห้งสนิท เก็บไว้ในที่แห้งไม่ถูกแสงแดด

ในการทำยาเม็ดในกรรมวิธีแผนโบราณ นอกจากจะใช้น้ำผึ้ง เป็นกระสายผสมยาเพื่อปั้นเมล็ดแล้ว ยังสามารถใช้น้ำกระสายยาอื่นๆ มาผสมเพื่อปั้นเม็ดได้อีกมากมาย เช่น น้ำดอกไม้เทศ, เหล้า เป็นต้น กรรมวิธีก็เช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว แต่การปั้นเม็ดจะ ยากง่ายตามความเหนียวของน้ำกระสายยานั้นๆ ถ้าน้ำกระสายยาที่ไม่มีความเหนียว อาจเปลี่ยนมาใช้วิธีอัดเม็ดด้วยแม่พิมพ์กดด้วยมือ ซึ่งก็ได้ผลดีเช่นกัน

ขนาดการใช้ยา

ตัวยาสมุนไพรมีปริมาณสารสำคัญที่ใช้ในการรักษา ไม่คงที่แน่นอน เนื่องจากสาเหตุหลายประการ และนอกจากจะมีสารสำคัญ ที่ใช้ในการบำบัดรักษาแล้ว ยังมีสารอื่นๆอีกหลายชนิด ทั้งที่เป็นสารสำคัญ และกากยา ดังนั้น การใช้ยาสมุนไพร จึงใช้โดยประมาณปริมาณ เพื่อให้การให้ยาแต่ละครั้งมีปริมาณสารสำคัญหรือสรรพคุณยา เพียงพอที่จะบำบัดรักษา และไม่เกินความต้องการ อันอาจก่อให้เกิดพิษภัยได้ การกำหนดขนาดของยาที่ใช้แต่ละครั้ง จึงขึ้นอยู่กับ ดุลยพินิจของหมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในรายที่ป่วยหนัก โรคร้ายแรงหรือยาที่มีฤทธิ์แรง จะต้องอาศัยความรู้ความชำนาญซึ่งเป็นทั้งศาสตร์และศิลปะของผู้เป็นแพทย์

จะอย่างไรก็ตาม การใช้ยาสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง สามารถกระทำได้ เฉพาะในการใช้ตัวยาสมุนไพรที่ไม่มีผลข้างเคียง ไม่มีพิษ หรือที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไป ซึ่งมีขนาดการใช้ยาดังนี้

1. ยาชง ใช้ตัวยาสมุนไพรแห้ง หนักประมาณ 7-15 กรัม แช่ในน้ำร้อน ค่อนแก้ว ดื่มเฉพาะน้ำครั้งเดียว
2. ยาต้ม รินเอาน้ำยาดื่ม ครั้งละครึ่ง ถึง 1 ช้อนกาแฟ เด็กลดลงตามส่วน
3. ยาเม็ด ครั้งละหนักประมาณ 1-2 กรัม หรือ เม็ดขนาดเท่าลูกมะแว้ง 3-5 เม็ด ยกเว้นยาที่มีฤทธิ์แรง หรือยาถ่าย ควรใช้ตามหมอสั่ง หรือตามธาตุหนักเบา (คือ ถ้ากินยาแล้วถ่ายมาก คราวต่อไปให้ลดปริมาณยาลง ถ้าถ่ายน้อยก็ให้เพิ่มปริมาณยาขึ้นตามส่วน)
4. ยาผง ครั้งละ หนักครึ่งถึง 1 กรัม ละลายน้ำร้อน หรือกระสายยารับประทาน
5. ยาดอง รับประทานครั้งละ ประมาณ 2-3 ช้อนโต๊ะ

เวลาใช้ยา

ยาสมุนไพรส่วนมากนิยมรับประทานก่อนอาหาร เพื่อไม่ให้สรรพคุณยาเสียไปจากการย่อย เว้นแต่
ยาที่มีฤทธิ์กัดกระเพาะอาหาร ควรรับประทานหลังอาหาร
ยาสมุนไพรส่วนใหญ่ นิยมรับประทาน วันละ 2-เวลา ก่อนอาหาร เช้า-เย็น
ในกรณีที่อาการของโรครุนแรง อาจให้ วันละ 3-เวลา เช้า-กลางวัน-เย็น
ถ้าอาการหนัก อาจเพิ่ม ก่อนนอนอีกหนึ่งครั้ง
ถ้าอาการหนักมาก อาจให้ยาทุก 4-ชั่วโมง จนกว่าอาการจะดีขึ้น
การให้ยาตามแผนโบราณยังต้องคำนึงถึง กาลสมุฏฐาน กำลังยา กำลังโรคและกำลังคนไข้ด้วย

รูปแบบของยาสมุนไพร

รูปแบบของยาสมุนไพร


การนำสมุนไพรมาใช้รักษาโรคนั้น ใช้ได้ในหลายรูปแบบ เช่น การใช้สมุนไพรสดๆ ใช้ในรูปยาต้ม ยาชง ยาลูกกลอน ยาดองเหล้า และยาพอก เป็นต้น

1.ใช้ในรูปสมุนไพรสดๆ สมุนไพรบางชนิดนิยมใช้ในรูปสมุนไพรสดจึงจะให้ผลดี เช่น วุ้นจากใบว่านหางจระเข้สดใช้ทาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก, ใบผักบุ้งทะเลสดนำมาตำ ใช้ทาแผลที่ถูกพิษแมงกระพรุน หรือกระเทียมสดนำมาฝานเป็นชิ้นบางๆ ใช้ทาบริเวณผิวหนังที่เป็นเชื้อรา เป็นต้น ในกรณีการใช้สมุนไพรสด ควรระวังในเรื่องของความสะอาด เพราะถ้าสกปรก อาจติดเชื้อทำให้แผลเป็นหนองได้

2.ตำคั้นเอาน้ำกิน ใช้สมุนไพรสดๆ ตำให้ละเอียดจนเหลว ถ้าไม่มีน้ำให้เติมน้ำลงไปเล็กน้อยคั้นเอาน้ำยาที่ได้กิน สมุนไพรบางชนิด เช่น กระทือ กระชายให้นำไปเผาไฟให้สุกเสียก่อนจึงค่อยตำ

3.ยาชง ส่วนมากมักใช้กับพวก ใบไม้ เช่น หญ้าหนวดแมว, ใบชุมเห็ดเทศ, กระเจี๊ยบ เป็นต้น วิธีทำ นำตัวยาที่จะใช้ล้างให้สะอาด ผึ่งให้แห้ง หรือ คั่วให้กรอบอย่าให้ไหม้ นำมาใส่ภาชนะที่สะอาด ไม่ใช้ภาชนะโลหะ วิธีชงทำโดยใช้สมุนไพร 1 ส่วน ผสมกับน้ำเดือด 10 ส่วน ปิดฝาทิ้งไว้ 5-10 นาที ยาชงเป็นรูปแบบยาที่มีกลิ่นหอมชวนดื่มและเป็นวิธีสะดวกรวดเร็ว ยาชง ตัวยาหนึ่งชุดนิยมใช้เพียงครั้งเดียว

4.ยาต้ม เป็นวิธีที่นิยมใช้ และสะดวกมากที่สุด สามารถใช้ได้ทั้งตัวยาสดหรือแห้ง ในตัวยาที่สารสำคัญ สามารถละลายได้ในน้ำ โดยการนำตัวยามาทำความสะอาด สับให้เป็นท่อนขนาดพอเหมาะ และให้ง่ายต่อการทำละลายของน้ำกับตัวยา นำใส่ลงในหม้อ (ควรใช้หม้อดินใหม่หรือภาชนะเคลือบผิว ที่ไม่ให้สารพิษ เมื่อถูกความร้อน การใช้หม้ออลูมิเนียมหรือโลหะ จะทำให้ฤทธิ์ของยาลดลง หรือมีโลหะปนออกมากับน้ำยาได้) เติมน้ำให้ท่วมยา (โดยใช้มือกดลงบนยาเบาๆ ให้ตัวยาอยู่ใต้น้ำ) นำไปตั้งไฟ ต้มให้เดือด ตามที่ กำหนดในตำรับยา หรือถ้าไม่มีกำหนดไว้ ให้กำหนดดังนี้

ถ้าเป็นตัวยาที่มีน้ำมันหอมระเหย เช่น ขิง, กระวาน, กานพลู, ไพล, ใบกะเพรา ฯลฯ ให้ต้มน้ำให้เดือดเสียก่อน จึงนำตัวยาใส่ลงไป ปิดฝา ทิ้งไว้ให้เดือดนานประมาณ 2-5 นาที จึงรินเอาน้ำยามารับประทาน ครั้งละ ครึ่งถึง 1 ถ้วยกาแฟ ก่อนอาหาร หรือ เมื่อมีอาการ

ถ้าเป็นตัวยาให้ต้มรับประทานทั่วไป ให้นำตัวยาใส่ในหม้อ เติมน้ำท่วมยา แล้วจึงนำไปตั้งบนเตา ต้มให้เดือดนานประมาณ 15 นาที จึงรินเอาน้ำยามารับประทาน

ถ้าเป็นการต้มเคี่ยว เช่น เคี่ยวให้เหลือ 1 ใน 3 หรือ ครึ่งหนึ่ง ให้เอาตัวยาใส่หม้อ เติมน้ำท่วมยา ตั้งไฟต้มเคี่ยวไปจนกว่าจะเหลือ ปริมาณน้ำประมาณ 1 ส่วน หรือ ครึ่งหนึ่ง ตามกำหนด (เช่น ใส่น้ำก่อนต้ม 3 ขัน ให้ต้มเคี่ยวจนเหลือน้ำประมาณ 1 ขัน หรือ 1.5 ขัน)

ยาต้มที่ปรุงจากใบไม้ นิยมต้มรับประทานเพียงวันเดียวแล้วทิ้งไป

ยาต้มที่ปรุงจากแก่นไม้ เครื่องเทศ โกฐ เทียน ถ้าต้มอุ่นทุกวัน มีอายุได้ 7-10 วัน

ยาต้มที่ปรุงจากแก่นไม้ เครื่องเทศ โกฐ เทียน หัวของพืชแห้ง ถ้าต้มอุ่น เช้า-เย็น ทุกวัน มีอายุ 7-15 วัน

5.ยาดอง ใช้ได้ผลดีกับตัวยาที่สารสำคัญละลายน้ำได้น้อย น้ำยาที่ได้จะออกฤทธิ์เร็วและแรงกว่าการใช้วิธีต้ม นิยมใช้กับตัวยาแห้ง โดยนำตัวยามาบดหยาบ หรือ สับเป็นท่อนเล็กๆ ใส่ลงในขวดโหลหรือไห เทเหล้าขาว นิยมใช้เหล้าข้าวเหนียว หรือเหล้าโรง ๔o ดีกรี แต่อาจใช้เหล้า ๒๘ ดีกรีแทนได้ ใส่ให้เหล้าท่วมยาพอประมาณ ถ้าเป็นตัวยาแห้ง ตัวยาจะพองตัว ทำให้เหล้าแห้งหรือพร่องไป ควรเติมให้ท่วมยาอยู่เสมอ นิยมใช้ไม้ไผ่ซี่เล็กๆขัดกันไม่ให้ตัวยาลอยขึ้นมา ควรคนกลับยาทุกวัน ปิดฝาทิ้งไว้ นานประมาน 30 วัน จึงรินเอาน้ำยามาใช้ หรือรับประทาน

ในกรณีที่สารสำคัญไม่สลายตัว เมื่อถูกความร้อนอาจย่นเวลา การดองได้โดยใช้ วิธีดองร้อน คือ นำตัวยาห่อผ้าขาวบางสะอาด ใส่โหล เทเหล้าลงไปให้ท่วมยา เอาขวดโหลที่ใส่ยาและเหล้าแล้ว วางลงในหม้อใบโตพอเหมาะ เติมน้ำธรรมดาลงในหม้อชั้นนอก ทำเหมือนการตุ๋น กะอย่าให้มากเกินไป นำไปตั้งไฟต้มน้ำให้เดือด แล้วยกขวดโหลยาออกมา ปิดฝาทิ้งไว้ ประมาณ 7-14 วัน ก็สามารถรินเอาน้ำยามาใช้ได้ ห้ามใช้กับผู้ที่มีความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หญิงมีครรภ์

6.ยาเม็ด ยาไทยส่วนมาก มักจะมีรสที่ไม่ค่อยชวนรับประทาน สำหรับตัวยาบางตัวสามารถนำมาทำเป็นยาเม็ด เพื่อให้การใช้สะดวกขึ้น การทำยาเม็ด นิยมทำเป็นแบบ ลูกกลอน (เม็ดกลม) และเม็ดแบน (โดยใช้แบบพิมพ์อัดเม็ด) ในปัจจุบัน เพิ่มการบรรจุแคปซูลเข้าไปอีกวิธีหนึ่ง

สมุนไพร

ความหมายของสมุนไพร


สมุนไพร หมายถึง “พืชที่ใช้ทำเป็นเครื่องยา” ส่วน ยาสมุนไพร หมายถึง “ยาที่ได้จากส่วนของพืช สัตว์ และแร่ ซึ่งยังมิได้ผสมปรุง หรือ แปรสภาพ” ส่วนการนำมาใช้ อาจดัดแปลงรูปลักษณะของสมุนไพรให้ใช้ได้สะดวกขึ้น เช่น นำมาหั่นให้มีขนาดเล็กลง หรือ นำมาบดเป็นผง เป็นต้น

สมุนไพรนอกจากจะนำมาใช้ประโยชน์เป็นยารักษาโรคแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านอื่นๆอีก เช่นนำมาบริโภคเป็นอาหาร อาหารเสริมสุขภาพ เครื่องดื่ม สีผสมอาหาร และสีย้อม ตลอดจนใช้ทำเครื่องสำอางอีกด้วย

การใช้สมุนไพรเป็นยาบำบัดโรคนั้นอาจใช้ในรูปยาสมุนไพรเดี่ยวๆหรือใช้ในรูปตำรับยาสมุนไพร ปัจจุบันตำรับยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณที่กระทรวงสาธารณสุขอนุญาติให้ใช้รักษาโรคได้ มีทั้งหมด 28 ขนาน เช่น

ยาจันทน์ลีลา ใช้แก้ไข้ แก้ตัวร้อน
ยามหานิลแท่งทอง ใช้แก้ไข้ แก้หัด อีสุกอีใส
ยาหอมเทพพิจิตร แก้ลม บำรุงหัวใจ
ยาเหลืองปิดสมุทร แก้ท้องเสีย
ยาประสะมะแว้ง แก้ไอ ขับเสมหะ
ยาตรีหอม แก้ท้องผูกในเด็กระบายพิษไข้
สำหรับสมุนไพรที่นิยมใช้เดี่ยวๆ รักษาอาการของโรคที่พบบ่อยๆ ได้แก่
สมุนไพรแก้ไข้ ฟ้าทะลายโจร บอระเพ็ด
สมุนไพรแก้ท้องเสีย กล้วยน้ำว้า ทับทิม ฝรั่งดิบ
สมุนไพรแก้ไอ มะแว้ง ขิง มะนาว
สมุนไพรแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขมิ้นชัน แห้วหมู กระชาย
สมุนไพรช่วยให้นอนหลับ ขี้เหล็ก ดอกบัวหลวง หัวหอมใหญ่
สมุนไพรแก้เชื้อรา กระเทียม ข่า ชุมเห็ดเทศ
สมุนไพรแก้เริม เสลดพังพอนตัวเมีย และตัวผู้

การเก็บยาสมุนไพรให้ได้สรรพคุณที่ดี

1. พืชที่ให้น้ำมันหอมระเหย ควรเก็บในขณะดอกกำลังบาน
2. เก็บรากหรือหัว เก็บตอนที่พืชหยุดการปรุงอาหาร หรือเริ่มมีดอก
3. เก็บเปลือก เก็บก่อนพืชเริ่มผลิใบใหม่
4. เก็บใบ เก็บก่อนพืชออกดอก ควรเก็บในเวลากลางวัน ที่มีอากาศแห้ง
5. เก็บดอก ควรเก็บเมื่อ ดอกเจริญเต็มที่ คือ ดอกตูม หรือ แรกแย้ม
6. เก็บผล ควรเก็บผลที่โตเต็มที่แต่ยังไม่สุก
7. เก็บเมล็ด ควรเก็บเมื่อผลสุกงอมเต็มที่ จะมีสาระสำคัญมาก

วันศุกร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2553

รู้ความเป็นตัวคุณด้วยธาตุของคุณ

***ธาตุของคุณธาตุดิน Earth Element ม.ค-ธ.ค-พ.ย.

*ธรรมชาติของธาตุ หนักแน่น มั่นคง
 
*รูปกายตามธาตุเมื่อสมดุล ส่วนใหญ่จะอวบๆ กระดูกใหญ่ น้ำหนักตัวมาก ผม-คิ้วดกดำ หน้าผากกว้าง เสียงดังฟังชัด บุคคลิกโดดเด่น สง่างาม ใบหน้ากลมรี รูปร่างสูงใหญ่ ชื่นชอบเรื่องอาหารการกิน จึงต้องระวังน้ำหนักตัวอยู่เสมอ
 
*ผิวพรรณตามธาตุ ผิวค่อนข้างคล้ำ มักเป็นคนผิวมัน
 
*โภชนาการตามธาตุ คือรสชาติของพืชผักสมุนไพรที่ควรบริโภค ฝาด หวาน มัน เค็ม ขม รสจัดด้วยสมุนไพรกับเครื่องเทศ
 
***ธาตุของคุณธาตุน้ำ Water Element ต.ค-ก.ย-ส.ค.
 
*ธรรมชาติของธาตุ สงบนิ่ง และเยือกเย็น

*รูปกายตามธาตุเมื่อสมดุล รูปร่างและอวัยวะสมบูรณ์สมส่วน ผมดกดำ ตาเข้มหวาน ท่าทางเดินมั่นคง แต่ทำกิจกรรมเชื่องช้า ทนหิว ทนร้อน ทนเย็น ได้ดี เสียงโปร่ง เจ้าชู้นิดๆ ช่างเจรจา องอาจ ทระนง

*ผิวพรรณตามธาตุ ผิวพรรณสดใส เต่งตึง

*โภชนาการตามธาตุ คือรสชาติของพืชผักสมุนไพรที่ควรบริโภค เปรี้ยว ขม หลีกเลี่ยงรสมันจัด เช่น ชะอม ฟักทอง ถั่วต่างๆ กะทิ

***ธาตุของคุณธาตุลม Air Element ก.ค-มิ.ย-พ.ค.
 
*ธรรมชาติของธาตุ อ่อนไหว เปลี่ยนแปลงเสมอ

*รูปกายตามธาตุเมื่อสมดุล รูปร่างสูงโปร่ง ผมบาง มักดูอ่อนกว่าวัย ริมฝีปากเอิบอิ่ม ช่างพูด เสียงต่ำ ออกเสียงไม่ค่อยชัด ดวงตาพองโต แต่สดใสมีชีวิตชีวา ไม่สูงไม่เตี้ย ได้สัดส่วน สายตาไม่หยุดนิ่ง ชอบความสุขสบาย

*ผิวพรรณตามธาตุ ผิวหนังไม่ละเอียดมากนัก มักผิวแห้งหยาบ แพ้ง่าย

*โภชนาการตามธาตุ คือรสชาติของพืชผักสมุนไพรที่ควรบริโภค เผ็ดร้อน เช่น พริก ขิง โหระพา กะเพรา รสสุขุม เช่น เตยหอม บัว หลีกเลี่ยงรสหวานจัด มันและเฝื่อนขม

***ธาตุของคุณธาตุไฟ Fire Element เม.ย-มี.ค-ก.พ.
 
*ธรรมชาติของธาตุ มีไฟในตัว ใจร้อน

*รูปกายตามธาตุเมื่อสมดุล โครงสร้างร่างกายแข็งแรง ศีรษะเถิก หน้าผากกว้าง ผมมักบาง และหงอกเร็ว หิวบ่อย ทานเก่ง ข้อกระดูกใหญ่แต่หลวม ใบหน้าเหลี่ยม

*ผิวพรรณตามธาตุ ผิวค่อนข้างแพ้ง่ายและไวต่อสิ่งระคายเคืองเต็มไปด้วยกระ ไฝ ฝ้า

*โภชนาการตามธาตุ คือรสชาติของพืชผักสมุนไพรที่ควรบริโภค ขม เย็น จืด ควรหลีกเลี่ยง รสเผ็ดร้อน รสจัดและเครื่องเทศ มีกรดมาก ควรดื่มน้ำมากๆ

ธรรมชาติของชาวธาตุดิน หรือผู้ที่เกิดเดือน พ.ย.-ม.ค.-ธ.ค.


EARTH ELEMENT / NOV. - DEC.- JAN.

ลักษณะเมื่อธาตุสมดุล พลังงานในตัวคุณต้องการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง คุณจึงชอบหาอะไรแปลกใหม่ให้กับชีวิตอยู่เสมอ ลักษณะประจำธาตุมักสุขุมรอบคอบ มีเป้าหมายชีวิต เฉลียวฉลาด ทะเยอทะยาน จิตใจหนักแน่น มีมนุษย์สัมพันธ์ดี กระตือรือร้น อดทนสูง เอื้อเฟื้อ มีเมตตา รักสงบ

ลักษณะเมื่อธาตุเสียสมดุล มันเกิดความขัดแย้งในตัวเอง ลังเล ใจน้อย ดื้อรั้น ซึมเศร้า โกรธเกรี้ยว อารมณ์รุนแรง สุขภาพร่างกาย มักมีปัญหาบวมน้ำ ผิวไม่ค่อยเกลี้ยงเกลา

น้ำมันหอมระเหยที่เหมาะสมกับธาตุ Patchuli, Styrax, Plai, Oak Moss, Cypress, Garlic

ควรหลีกเลี่ยง Bergarmot, Orange, Lemon

AROMATHERAPY ตามธาตุเจ้าเรือนของธาตุดิน ควรเป็น BOTA ในแนวกลิ่น Woody Notes

ธรรมชาติของชาวธาตุน้ำ หรือผู้ที่เกิดเดือน ส.ค.- ก.ย.- ต.ค.


WATER ELEMENT / AUG. - SEP.- OCT.

ลักษณะเมื่อธาตุสมดุล ลักษณะธรรมชาติเหมือนน้ำ คือนิ่ง เยือกเย็น จึงต้องการสิ่งกระตุ้นให้มีชีวิตชีวามากกว่าธาตุอื่น คุณเป็นคนความจำดี รสนิยมเลิศหรู เป็นนักวางแผนมือฉกาจ ใจกว้าง มีเหตุผลและยุติธรรม มีหัวศิลปสู้ชีวิต

ลักษณะเมื่อธาตุเสียสมดุล มักเฉื่อยชา เกียจคร้าน ตัดสินใจช้า ไม่ค่อยเด็ดขาด ใจอ่อน

น้ำมันหอมระเหยที่เหมาะสมกับธาตุ Garanium, Lavender, Benzion, Jasmine, Ylang-Ylang

ควรหลีกเลี่ยง Rosermary, Thyme, Cinnamon

AROMATHERAPY ตามธาตุเจ้าเรือนของธาตุน้ำ ควรเป็นกลิ่นหอมสดชื่น ควรใช้ BOTA ในแนวกลิ่น Floral Notes

ธรรมชาติของชาวธาตุลม หรือผู้ที่เกิดเดือน พ.ค.-มิ.ย.-ก.ค.


AIR ELEMENT / MAY. - JUN.- JUL.

ลักษณะเมื่อธาตุสมดุล พลังที่ช่อนตัวอยู่ในความสงบมักถูกเปลี่ยนแปลงได้ง่าย สิ่งที่ควรถามถึงก็
คืออะไรที่จะช่วยทำให้เกิดความสงบและมั่นคง ความอบอุ่นเป็นสิ่งสำคัญมาก ลักษณะประจำธาตุ
ของคุณก็เหมือนลมคือทำสิ่งต่างๆ อย่างรวดเร็ว เรียนรู้เร็วแต่ก็ลืมเร็ว ปรับตัวง่าย เข้าใจง่าย ฉลาด
ไหวพริบดี งดงาม เกิดมาเพื่อเป็นผู้นำ มีเสน่ห์ทางเพศ จะสุขุมเยือกเย็นยามเกิดวิกฤต มีความคิดสร้างสรรค์เป็นศิลปิน

ลักษณะเมื่อธาตุเสียสมดุล คุณมักกระตือรือร้น ทำอะไรอย่างปุบปับ แต่ก็หมดความตั้งใจนั้นได้ในทันที เนื่องจากระดับพลังงานในตัว คุณเสียสมดุลจึงไม่คงที่ เอาแน่นอนไม่ค่อยได้ ไม่ค่อยตรงต่อเวลา ไม่กล้าตัดสินใจ อารมณ์ไม่มั่นคง ด้วยความ รีบร้อนจึงมักมีปัญหากับกระเพาะอาหารบ่อยๆ

น้ำมันหอมระเหยที่เหมาะสมกับธาตุ Bergamot, Lemon, Orange, Clove, Termaric, Mint

ควรหลีกเลี่ยง Patchuli, Plai, Styrax

AROMATHERAPY ตามธาตุเจ้าเรือนของธาตุลมควรเป็นกลิ่นหอมที่อบอุ่น ระคนเผ็ดร้อนของเครื่องเทศ ควรใช้ BOTA ในแนวกลิ่น Citrus

ธรรมชาติของชาวธาตุไฟ หรือผู้ที่เกิดเดือน ก.พ.-มี.ค.-เม.ย.


FIRE ELEMENT / FEB. - MAR. – APR.

ลักษณะเมื่อธาตุสมดุล ชาวธาตุไฟ มีพลังงานในตัวเต็มอยู่เสมอ แต่ก็ร้อนเช่นเดียวกับไฟ จึงต้องช่วยดับร้อนด้วยความเย็น หากปลดปล่อยจิตใจให้ว่างได้บ้างคุณจะเป็นคนมีเหตุผล เปิดรับความคิดใหม่ๆ และจัดการสิ่งต่างๆ ได้ดี ลักษณะประจำธาตุของคุณเป็นคนที่เคลื่อนไหวหนักแน่น คล่องแคล่ว มีความกล้า เป็นครูที่ดี โรแมนติก ชอบความสมบูรณ์แบบ มีความสามารถรอบด้าน มั่นใจในตัวเองสูง อบอุ่น

ลักษณะเมื่อธาตุเสียสมดุล เมื่อคุณตกอยู่ท่ากลางความกดดัน จะขาดความมั่นใจ อ่อนไหว เข้าใจยาก อดทนต่ำ เครียด หงุดหงิด ขี้รำคาญ จึงมักตัดสินปัญหาด้วยความรุนแรง และใช้กำลัง

น้ำมันหอมระเหยที่เหมาะสมกับธาตุ Rosemary,Rose Wood,Thyme,Tea Tree,Ginger,Pepper

ควรหลีกเลี่ยง Geranium,Laverder, Benzoin

AROMATHERAPY ตามธาตุเจ้าเรือนของธาตุไฟ สำหรับคนธาตุไฟควรเป็น BOTA ในแนวกลิ่น Foresty Notes