Golden Dreams TMS&Herb

วันศุกร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2554

กลุ่มยากัน หรือ แก้เลือดออกตามไรฟัน -มะละกอ

มะละกอ

ชื่อวิทยาศาสตร์  Carica papaya  L.
ชื่อสามัญ  Papaya, Pawpaw, Tree melon
วงศ์  Caricaceae
ชื่ออื่น :  มะก้วยเทศ (ภาคเหนือ) หมักหุ่ง (ลาว,นครราชสีมา,เลย) ลอกอ (ภาคใต้) กล้วยลา (ยะลา) แตงต้น (สตูล)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุก อายุหลายปี สูง 3-6 เมตร เปลือกต้นเรียบ สีน้ำตาลออกขาว ลำต้นตรง ไม่มีแก่น แตกกิ่งก้านน้อย มีรอยแผลใบชัดเจน มียางขาวข้น ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับรอบต้นหนาแน่นที่ปลายยอด ใบรูปฝ่ามือ ขนาด 80-120 ซม. ขอบใบเว้าเป็นแฉกลึกถึงแกนก้าน ก้านใบเป็นหลอด กลมกลวงยาว 25-100 ซม. ดอก ดอกแยกเพศอยู่คนละต้น ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อยาวห้อยลง ดอกสีขาว กลีบดอกมี 5 กลีบ มีกลิ่นหอม ดอกเพศเมียสีขาว ออกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ ดอกมีขนาดใหญ่ กว่าดอกเพศผู้ ผล รูปกระสวย ผิวเรียบ เปลือกบาง มียางสีขาว ผลสดสีเขียวเข้ม พอสุกเปลี่ยนเป็นสีส้ม รับประทานได้ มีเมล็ดมาก เมล็ดกลม สีดำ มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีขาวใส
ส่วนที่ใช้
: ผลสุก ผลดิบ ยางจากผลหรือจากก้านใบ ราก
สรรพคุณ :
  • ผลสุก - เป็นยากัน หรือแก้โรคเลือดออกตามไรฟัน เป็นยาระบาย
  • ยางจากผลดิบ - เป็นยาช่วยย่อย ฆ่าพยาธิ
  • ราก - ขับปัสสาวะ
วิธีและปริมาณที่ใช้ :
  • เป็นยาระบาย ใช้ผลสุกไม่จำกัดจำนวน รับประทานเป็นผลไม้
  • เป็นยาช่วยย่อย ก. ใช้เนื้อมะละกอดิบไม่จำกัด ประกอบอาหาร
    ข. ยางจากผล หรือจากก้านใบ ใช้ 10-15 เกรน หรือถ้าเป็นตัวยาช่วยย่อยแท้ๆ ( Papain )
  • เป็นยากัน หรือแก้โรคลักปิดลักเปิด โรคเลือดออกตามไรฟัน ใช้มะละกอสุกไม่จำกัด รับประทานเป็นผลไม้ ให้วิตามินซี
  • ราก เป็นยาขับปัสสาวะ
ข้อควรระวัง :
          สำหรับผู้ที่รับประทานมะละกอสุกติดต่อกันเป็นจำนวนมาก เป็นเวลานาน อาจทำให้สารมีสีพวก carotenoid ไปสะสมในร่างกายมากเกินไป ทำให้ผิวมีสีเหลือง
สารเคมี :
  • ในผลมะละกอ ประกอบด้วย โปรตีน 0.5 % คาร์โบไฮเดรต 9.5 % แคลเซี่ยม 0.01 % ฟอสฟอรัส 0.01 % เหล็ก 0.4 มิลลิกรัม/100 กรัม และสารอื่นๆ อีกเล็กน้อย
  • ในส่วนของเนื้อมะละกอ จะมี sucrose, invert sugar papain, malic acid และเกลือของ Tartaric acid, citric acid และ pectin จำนวนมาก (มีทั้งในผลดิบด้วย) และ pigment พวก carotenoid และวิตามินต่างๆ
  • ยางมะละกอ มี enzyme ชื่อ papain ซึ่ง papain เป็นชื่อรวมสำหรับเรียกเอนไซม์จากน้ำยางมะละกอ ซึ่งประกอบด้วย papain 10% chymopapain 45% lysozyme 20%

กลุ่มยากัน หรือ แก้เลือดออกตามไรฟัน -มะนาว

มะนาว

ชื่อวิทยาศาสตร์  Citrus aurantifolia (Christm.)  Swingle
ชื่อสามัญ  Common lime
วงศ์  Rutaceae
ชื่ออื่น :  ส้มมะนาว มะลิว (ภาคเหนือ)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่ม สูง 2-4 เมตร กิ่งอ่อนมีหนามแหลม เปลือกต้นเรียบ สีน้ำตาลปนเทา ใบ เป็นใบประกอบ ออกเรียงสลับ มีใบย่อยใบเดียว รูปไข่หรือรูปรียาว กว้าง 3-5 ซม. ยาว4-8 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบมนมีปีกแคบๆ ขอบใบหยัก แผ่นใบมีต่อมน้ำมันกระจายอยู่ตามผิวใบ ดอก ออกเป็นช่อสั้น 5-7 ดอก หรือออกดอกเดี่ยวตามซอกใบ ที่ปลายกิ่ง ดอกสีขาว กลีบดอกมี 4-5 กลีบ หลุดร่วงง่าย ผล รูปทรงกลม ผิวเรียบเกลี้ยง ผลอ่อนสีเขียวเข้ม พอแก่เป็นสีเหลือง ข้างในแบ่งเป็นห้องแบบรัศมี มีรสเปรี้ยว เมล็ดกลมรี สีขาว มี 10-15 เมล็ด
ส่วนที่ใช้
น้ำมันจากผิวของผลสด น้ำคั้นจากผลมะนาว
สรรพคุณ :
        
 น้ำมันจากผิวมะนาว ใช้เป็นยาขับลม แก้ท้องอืดเฟ้อ แน่นจุกเสียด แต่งกลิ่น น้ำคั้นจากผลมะนาว รักษาอาการเจ็บคอ แก้ไอ ขับเสมหะ และรักษาโรคลักปิดลักเปิดซึ่งเกิดจากการขาดวิตามินซี
วิธีและปริมาณที่ใช้ :
          1.  ใช้ผิวมะนาวแห้ง 10-15 กรัม ต้มน้ำรับประทาน
          2.  ใช้น้ำมะนาว 1 ถ้วยชา ผสมน้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะ และเกลือเล็กน้อย ชงน้ำอุ่นจิบบ่อยๆ
สารเคมี : ผิวมะนาวมี น้ำมันหอมระเหย ประกอบด้วย d-limonene, linalool, terpineol และ flavonoids

กลุ่มยากัน หรือ แก้เลือดออกตามไรฟัน -มะขามป้อม

มะขามป้อม

ชื่อวิทยาศาสตร์  Phyllanthus emblica  L.
ชื่อสามัญ  Emblic myrablan, Malacca tree
วงศ์  Euphorbiaceae
ชื่ออื่น :  กำทวด (ราชบุรี) กันโตด (เขมร-จันทบุรี) สันยาส่า มั่งลู (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้น สูง 10-12 เมตร เปลือกต้นสีเทาอมน้ำตาล แตกเป็นร่องตามยาว กิ่งก้านแข็ง เหนียว ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับในระนาบเดียวกัน รูปขอบขนาน กว้าง 1- 5 มม. ยาว 4-15 มม. ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบมนหรือเว้าเข้า ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบ สีเขียว ดอก ออกเป็นช่อ เป็นกระจุกเล็กๆ ดอกสีเหลืองอ่อนออกเขียว กลีบดอกมี 5-6 กลีบ มีเกสรเพศผู้สั้นๆ 3-5 อัน ก้านดอกสั้น ผล รูปทรงกลม ขนาด 1.3-2 ซม. เป็นพูตื่นๆ 6 พู ผิวเรียบ  ผลอ่อนสีเขียวอมเหลือง พอแก่เป็นสีเหลืองออกน้ำตาล เมล็ดรูปรี เปลือกหุ้มเมล็ดแข็ง
ส่วนที่ใช้ :
ผลสด  น้ำจากผล
สรรพคุณ :
  • ผลสด - โตเต็มที่ รสเปรี้ยวอมฝาด จะรู้สึกหวานตาม แก้ไอ ขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ แก้โรคลักปิดลักเปิด เป็นผลไม้ที่มีไวตามินซีสูง
  • น้ำจากผล - แก้ท้องเสีย ขับปัสสาวะ
วิธีและปริมาณที่ใช้ :
          ใช้ผลโตเต็มที่ไม่จำกัดจำนวน กัดเนื้อเคี้ยวอมบ่อยๆ แก้ไอ หรือใช้ผลไม้สด 10-30 ผล ตำคั้นน้ำรับประทาน แก้ท้องเสีย ขับปัสสาวะ

สารเคมี
: มะขามป้อมสดมีไวตามินซีประมาณ 1-2 % มะขามป้อม 1 ผล มีปริมาณไวตามินซีเท่ากับที่มีในส้ม 2 ผล นอกจากนี้พบ nicotinic acid, mucic acid, ellagic acid และ phyllemblic acid.

กลุ่มยากัน หรือ แก้เลือดออกตามไรฟัน -มะกอกน้ำ

มะกอกน้ำ

ชื่อวิทยาศาสตร์  Elaeocarpus hygrophilus  Kurz.
วงศ์  Elaeocarpaceae
ชื่ออื่น :  สารภีน้ำ (ภาคกลาง)  สมอพิพ่าย (ระยอง)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 8-15 เมตร ทรงพุ่มกลมค่อนข้างทึบ เปลือกลำต้น สีน้ำตาลแดง ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกจากลำต้นแบบสลับ แต่ช่วงปลายยอดจะออกแบบเวียน ใบ รูปไข่หรือรูปรี ปลายใบแหลม ฐานใบมน มีหูใบ ขอบใบเป็นหยักเล็กน้อย ก้านใบมีสีแดง ดอก ออกเป็นช่อแบบราซีม ออกตรงซอกใบ เป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีขาว มีลักษณะเป็นริ้ว มีเกสรตัวผู้จำนวนมาก มีเกสรตัวเมีย 1 อัน ผล เป็นรูปดรุป (drupe) มีเปลือกหุ้มเมล็ดที่แข็งมาก ภายในมี 1 เมล็ด สีน้ำตาลอ่อน เมล็ด รูปกระสวย ผิวขรุขระ ออกดอกราวเมษายนถึงพฤษภาคม
ส่วนที่ใช้
ผล เมล็ด
สรรพคุณ :
  • ผล - ใช้ดองน้ำเกลือ รับประทานเป็นอาหารแทนมะกอกฝรั่ง จะมีรสเปรี้ยวฝาดเล็กน้อย น้ำให้ชุ่มคอ แก้กระหายน้ำได้ดี
  • เมล็ด -  อาจกลั่นได้น้ำมัน คล้ายน้ำมันโอลีฟ ( Olive Oil ) ของฝรั่ง
  • ดอก - แก้พิษโลหิต กำเดา แก้ริดสีดวงในลำคอ คันดุจมีตัวไต่อยู่ บำรุงธาตุ

กลุ่มยากัน หรือ แก้เลือดออกตามไรฟัน -มะกอก

มะกอก

ชื่อวิทยาศาสตร์ Spondias cytherea  Sonn.
ชื่อสามัญ Jew's plum, Otatheite apple
วงศ์ Anacardiaceae
ชื่ออื่น :  มะกอกฝรั่ง มะกอกหวาน (ภาคกลาง)
สรรพคุณ :
  • เนื้อผลมะกอก - มีรสเปรี้ยวฝาด หวานชุ่มคอ บำบัดโรคธาตุพิการ โดยน้ำดีไม่ปกติ และมีประโยชน์แก้โรคบิดได้ด้วย
  • น้ำคั้นใบมะกอก - ใช้หยอดหู แก้ปวดหูดี
  • ผลมะกอกสุก - รสเปรี้ยว อมหวาน รับประทานทำให้ชุ่มคอ แก้กระหายน้ำได้ดี เช่น ผลมะขามป้อม
  • เปลือก - ฝาด เย็นเปรี้ยว ดับพิษกาฬ แก้ร้อนในอย่างแรง แก้ลงท้องปวดมวน แก้สะอึก
  • เมล็ดมะกอก - สุมไปให้เป็นถ่าน แช่น้ำ เอาน้ำรับประทานแก้ร้อนใน แก้หอบ แก้สะอึกดีมาก ใช้ผสมยามหานิล
  • ใบอ่อน - รับประทานเป็นอาหาร
วิธีใช้ : ใช้ผลรับประทานเป็นผลไม้ และปรุงอาหาร