Golden Dreams TMS&Herb

วันศุกร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2553

วิธีทำยา

วิธีทำ


เตรียมตัวยา

นำตัวยาที่ผ่านการอบให้แห้ง และฆ่าเชื้อแล้ว มาบดให้ละเอียด

เตรียมน้ำผึ้ง

น้ำผึ้งที่ใช้ควรเป็นน้ำผึ้งแท้ น้ำผึ้งที่นิยมใช้ตามแบบโบราณ ควรเป็นน้ำผึ้งแบบธรรมชาติ ที่มีส่วนผสมของนมผึ้งเกสรดอกไม้ และสารต่างๆครบถ้วน ไม่นิยมใช้ผึ้งเลี้ยงที่ถูกดูดเอาส่วนสำคัญออกหมดแล้ว นิยมใช้สดๆ ไม่นำไปผ่านความร้อน เพราะจะทำให้สารอาหารและแร่ธาตุบางตัวสลายไป แต่การใช้น้ำผึ้งแบบนี้ ยาที่ได้จะเก็บไว้ได้ไม่นาน มักจะผสมปั้นเม็ดเก็บไว้ใช้ไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ ถ้าจะเก็บไว้นานๆ ต้องนำไปอบให้แห้งสนิท ในอุณหภูมิประมาณ 60 องศาเซลเซียส วิธีนี้จะได้สรรพคุณครบถ้วนตามแผนโบราณ ในปัจจุบัน เพื่อให้สามารถเก็บยาได้นาน จะต้องนำน้ำผึ้งมาเคี่ยวให้งวดลงจนได้ความเหนียวตามต้องการ จึงนำมาใช้ผสมยา

ตักยาที่บดเป็นผงแล้วใส่ในภาชนะตามปริมาณที่ต้องการ เทน้ำผึ้งลงไปทีละน้อย ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน ต้องระวังอย่าให้แฉะ แล้วทิ้งไว้สักครู่เพื่อให้น้ำผึ้งซึมเข้าในตัวยาอย่างทั่วถึง จึงนำมาปั้นเม็ด โดยใช้รางไม้ หรือเครื่องปั้นเม็ดจะได้ยาเม็ดกลมที่เรียกว่า ยาลูกกลอน หรือนำมาอัดเม็ด ด้วยแม่พิมพ์กดด้วยมือ จะได้ยาเม็ดแบน

นำเมล็ดยาที่ได้ไปผึ่ง ในที่โล่ง 1-2 วัน หรืออบในอุณหภูมิประมาณ 60-องศาเซลเซียส 8-12 ชั่วโมง เมื่อแห้งสนิทดีแล้ว บรรจุในขวดสะอาดแห้งสนิท เก็บไว้ในที่แห้งไม่ถูกแสงแดด

ในการทำยาเม็ดในกรรมวิธีแผนโบราณ นอกจากจะใช้น้ำผึ้ง เป็นกระสายผสมยาเพื่อปั้นเมล็ดแล้ว ยังสามารถใช้น้ำกระสายยาอื่นๆ มาผสมเพื่อปั้นเม็ดได้อีกมากมาย เช่น น้ำดอกไม้เทศ, เหล้า เป็นต้น กรรมวิธีก็เช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว แต่การปั้นเม็ดจะ ยากง่ายตามความเหนียวของน้ำกระสายยานั้นๆ ถ้าน้ำกระสายยาที่ไม่มีความเหนียว อาจเปลี่ยนมาใช้วิธีอัดเม็ดด้วยแม่พิมพ์กดด้วยมือ ซึ่งก็ได้ผลดีเช่นกัน

ขนาดการใช้ยา

ตัวยาสมุนไพรมีปริมาณสารสำคัญที่ใช้ในการรักษา ไม่คงที่แน่นอน เนื่องจากสาเหตุหลายประการ และนอกจากจะมีสารสำคัญ ที่ใช้ในการบำบัดรักษาแล้ว ยังมีสารอื่นๆอีกหลายชนิด ทั้งที่เป็นสารสำคัญ และกากยา ดังนั้น การใช้ยาสมุนไพร จึงใช้โดยประมาณปริมาณ เพื่อให้การให้ยาแต่ละครั้งมีปริมาณสารสำคัญหรือสรรพคุณยา เพียงพอที่จะบำบัดรักษา และไม่เกินความต้องการ อันอาจก่อให้เกิดพิษภัยได้ การกำหนดขนาดของยาที่ใช้แต่ละครั้ง จึงขึ้นอยู่กับ ดุลยพินิจของหมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในรายที่ป่วยหนัก โรคร้ายแรงหรือยาที่มีฤทธิ์แรง จะต้องอาศัยความรู้ความชำนาญซึ่งเป็นทั้งศาสตร์และศิลปะของผู้เป็นแพทย์

จะอย่างไรก็ตาม การใช้ยาสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง สามารถกระทำได้ เฉพาะในการใช้ตัวยาสมุนไพรที่ไม่มีผลข้างเคียง ไม่มีพิษ หรือที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไป ซึ่งมีขนาดการใช้ยาดังนี้

1. ยาชง ใช้ตัวยาสมุนไพรแห้ง หนักประมาณ 7-15 กรัม แช่ในน้ำร้อน ค่อนแก้ว ดื่มเฉพาะน้ำครั้งเดียว
2. ยาต้ม รินเอาน้ำยาดื่ม ครั้งละครึ่ง ถึง 1 ช้อนกาแฟ เด็กลดลงตามส่วน
3. ยาเม็ด ครั้งละหนักประมาณ 1-2 กรัม หรือ เม็ดขนาดเท่าลูกมะแว้ง 3-5 เม็ด ยกเว้นยาที่มีฤทธิ์แรง หรือยาถ่าย ควรใช้ตามหมอสั่ง หรือตามธาตุหนักเบา (คือ ถ้ากินยาแล้วถ่ายมาก คราวต่อไปให้ลดปริมาณยาลง ถ้าถ่ายน้อยก็ให้เพิ่มปริมาณยาขึ้นตามส่วน)
4. ยาผง ครั้งละ หนักครึ่งถึง 1 กรัม ละลายน้ำร้อน หรือกระสายยารับประทาน
5. ยาดอง รับประทานครั้งละ ประมาณ 2-3 ช้อนโต๊ะ

เวลาใช้ยา

ยาสมุนไพรส่วนมากนิยมรับประทานก่อนอาหาร เพื่อไม่ให้สรรพคุณยาเสียไปจากการย่อย เว้นแต่
ยาที่มีฤทธิ์กัดกระเพาะอาหาร ควรรับประทานหลังอาหาร
ยาสมุนไพรส่วนใหญ่ นิยมรับประทาน วันละ 2-เวลา ก่อนอาหาร เช้า-เย็น
ในกรณีที่อาการของโรครุนแรง อาจให้ วันละ 3-เวลา เช้า-กลางวัน-เย็น
ถ้าอาการหนัก อาจเพิ่ม ก่อนนอนอีกหนึ่งครั้ง
ถ้าอาการหนักมาก อาจให้ยาทุก 4-ชั่วโมง จนกว่าอาการจะดีขึ้น
การให้ยาตามแผนโบราณยังต้องคำนึงถึง กาลสมุฏฐาน กำลังยา กำลังโรคและกำลังคนไข้ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น