Golden Dreams TMS&Herb

วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

กลุ่มยาลดไขมันในเส้นเลือด -เสาวรส

เสาวรส

ชื่อวิทยาศาสตร์ Passiflora laurifolia  L.
ชื่อสามัญ Jamaica honey-suckle, Passion fruit, Yellow granadilla
วงศ์ Passifloraceae
ชื่ออื่น : สุคนธรส (ภาคกลาง)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เป็นไม้เถา เถามีลักษณะกลม ใบ เป็นใบเดี่ยว ขอบใบหยักลึก ที่ก้านใบมีต่อมใบ ดกหนา เป็นมันสีเขียวแก่ ดอก ออกดอกเดี่ยวขนาดใหญ่ ห้อยคว่ำคล้ายกับดวงไฟโคม กาบดอกหุ้มสีเขียว กลีบชั้นนอกเป็นรูปกระบอก ปลายแฉกด้านหลังมีสีเขียวแก่ ด้านในมีสีม่วงอ่อนประกอบด้วยจุดแดง ๆ กลีบชั้นในลักษณะคล้ายกับตัวแฉกของกลีบชั้นนอก สีม่วงอ่อนหรือชมพูอ่อนมีประสีแดงแซม กลีบย่อยกลางมีเป็นชั้น ๆ สองชั้นแต่ละกลีบค่อนข้างกลม สีม่วงแก่ พาดด้วยปลายสีขาวสลับแดง มีเกสรอยู่ตรงกลางสีเขียวนวล ดอกมีกลิ่นหอมแรงจัดมาก ผล เป็นรูปไข่หรือไข่ยาว มีหลายพันธุ์ บางพันธุ์ ผิวผลสีม่วง สีเหลือง สีส้มอมน้ำตาล เปลือกผล เรียบ เนื้อรับประทานได้ มีเมล็ดจำนวนมาก อยู่ตรงกลาง
สรรพคุณ : ลดไขมันในเส้นเลือด
วิธีและปริมาณที่ใช้ : ใช้ผลที่แก่จัด ไม่จำกัดจำนวน ล้างสะอาด ผ่าครึ่ง คั้นเอาแต่น้ำ เติมเกลือและน้ำตาลเล็กน้อย ให้รสกลมกล่อมตามชอบ ใช้ดื่มเป็นน้ำผลไม้ ลดไขมันในเส้นเลือด

กลุ่มยาลดไขมันในเส้นเลือด -คำฝอย

คำฝอย
ชื่อวิทยาศาสตร์ Carthamus tinctorius  L.
ชื่อสามัญ Safflower, False Saffron, Saffron Thistle
วงศ์ Compositae
ชื่ออื่น : คำ  คำฝอย ดอกคำ (เหนือ)  คำยอง (ลำปาง)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุก สูง 40-130 ซม. ลำต้นเป็นสัน แตกกิ่งก้านมาก ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปวงรี รูปใบหอกหรือรูปขอบขนาน กว้าง 1-5 ซม. ยาว 3-12 ซม. ขอบใบหยักฟันเลื่อย ปลายเป็นหนามแหลม ดกช่อ ออกที่ปลายยอด มีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก เมื่อบานใหม่ๆ กลีบดอกสีเหลืองแล้วจึงเปลี่ยนเป็นสีแดง ใบประดับแข็งเป็นหนามรองรับช่อดอก ผลเป็นผลแห้ง ไม่แตก เมล็ดเป็นรูปสามเหลี่ยม สีขาว ขนาดเล็ก
สรรพคุณ :
  • ดอก หรือกลีบที่เหลืออยู่ที่ผล- รสหวาน บำรุงโลหิตระดู แก้น้ำเหลืองเสีย แก้แสบร้อนตามผิวหนัง
    - บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท ขับระดู แก้ดีพิการ
    - โรคผิวหนัง ฟอกโลหิต
    - ลดไขมันในเส้นเลือด ป้องกันไขมันอุดตัน
  • เกสร
    - บำรุงโลหิต ประจำเดือนของสตรี
  • เมล็ด
    - เป็นยาขับเสมหะ แก้โรคผิวหนัง ทาแก้บวม
    - ขับโลหิตประจำเดือน
    - ตำพอกหัวเหน่า แก้ปวดมดลูกหลังจากการคลอดบุตร
  • น้ำมันจากเมล็ด
    - ทาแก้อัมพาต และขัดตามข้อต่างๆ
  • ดอกแก่
    - ใช้แต่งสีอาหารที่ต้องการให้เป็นสีเหลือง
วิธีและปริมาณที่ใช้ :
         
ชาดอกคำฝอย ช่วยเสริมสุขภาพ ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด โดยใช้ดอกแห้ง 2 หยิบมือ (2.5 กรัม) ชงน้ำร้อนครึ่งแก้ว ดื่มเป็นเครื่องดื่มได้
สารเคมี
          ดอก  พบ Carthamin, sapogenin, Carthamone, safflomin A, sfflor yellow, safrole yellow
         เมล็ด จะมีน้ำมัน ซึ่งประกอบด้วยกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัว
คุณค่าด้านอาหาร
         ในเมล็ดคำฝอย มีน้ำมันมาก สารในดอกคำฝอย พบว่าแก้อาการอักเสบ มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อบางตัวได้         ในประเทศจีน ดอกคำฝอย เป็นยาเกี่ยวกับสตรี ตำรับยาที่ใช้รักษาสตรีที่ประจำเดือนคั่งค้างไม่เป็นปกติ หรืออาการปวดบวม ฟกช้ำดำเขียว มักจะใช้ดอกคำฝอยด้วยเสมอ โดยต้มน้ำแช่เหล้า หรือใช้วิธีตำพอก แต่มีข้อควรระวังคือ หญิงมีครรภ์ ห้ามรับประทาน         ใช้ดอกคำฝอยแก่ มาชงน้ำร้อน กรอง จะได้น้ำสีเหลืองส้ม (สาร safflower yellow) ใช้แต่งสีอาหารที่ต้องการให้เป็นสีเหลือง

กลุ่มยาลดไขมันในเส้นเลือด -กระเจี๊ยบแดง

กระเจี๊ยบแดง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Hibiscus sabdariffa  L.
ชื่อสามัญ : Jamaican Sorel, Roselle
วงศ์ Malvaceae
ชื่ออื่น : กระเจี๊ยบ  กระเจี๊ยบเปรี้ย  ผักเก็งเค็ง  ส้มเก็งเค็ง  ส้มตะเลงเครง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่ม สูง 50-180 ซม. มีหลายพันธุ์ ลำต้นสีม่วงแดง ใบเดี่ยว รูปฝ่ามือ 3 หรือ 5 แฉก กว้างและยาวใกล้เคียงกัน 8-15 ซม. ดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบ กลีบดอกสีชมพูหรือเหลืองบริเวณกลางดอกสีม่วงแดง เกสรตัวผู้เชื่อมกันเป็นหลอด ผลเป็นผลแห้ง แตกได้ มีกลีบเลี้ยงสีแดงฉ่ำน้ำหุ้มไว้
สรรพคุณ :
  • กลีบเลี้ยงของดอก หรือกลีบที่เหลืออยู่ที่ผล
  1. เป็นยาลดไขมันในเส้นเลือด และช่วยลดน้ำหนักด้วย
  2. ลดความดันโลหิตได้โดยไม่มีผลร้ายแต่อย่างใด
  3. น้ำกระเจี๊ยบทำให้ความเหนียวข้นของเลือดลดลง
  4. ช่วยรักษาโรคเส้นโลหิตแข็งเปราะได้ดี
  5. น้ำกระเจี๊ยบยังมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ เป็นการช่วยลดความดันอีกทางหนึ่ง
  6. ช่วยย่อยอาหาร เพราะไม่เพิ่มการหลั่งของกรดในกระเพาะ
  7. เพิ่มการหลั่งน้ำดีจากตับ
  8. เป็นเครื่องดื่มที่ช่วยให้ร่างกายสดชื่น เพราะมีกรดซีตริคอยู่ด้วย
  • ใบ  แก้โรคพยาธิตัวจี๊ด ยากัดเสมหะ แก้ไอ ขับเมือกมันในลำคอ ให้ลงสู่ทวารหนัก
  • ดอก  แก้โรคนิ่วในไต แก้โรคนิ่วในกระเพราะปัสสาวะ ขัดเบา ละลายไขมันในเส้นเลือด กัดเสมหะ ขับเมือกในลำไส้ให้ลงสู่ทวารหนัก
  • ผล  ลดไขมันในเส้นเลือด แก้กระหายน้ำ รักษาแผลในกระเพาะ
  • เมล็ด  บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง แก้ดีพิการ ขับปัสสาวะ ลดไขมันในเส้นเลือด
          นอกจากนี้ได้บ่งสรรพคุณโดยไม่ได้ระบุว่าใช้ส่วนใด ดังนี้คือ แก้อ่อนเพลีย บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ แก้ดีพิการ แก้ปัสสาวะพิการ แก้คอแห้งกระหายน้ำ แก้ความดันโลหิตสูง กัดเสมหะ แก้ไอ ขับเมือกมันในลำไส้ ลดไขมันในเลือด บำรุงโลหิต ลดอุณหภูมิในร่างกาย แก้โรคเบาหวาน แก้เส้นเลือดตีบตัน          นอกจากใช้เดี่ยวๆ แล้ว ยังใช้ผสมในตำรับยาร่วมกับสมุนไพรอื่น ใช้ถ่ายพยาธิตัวจี๊ด
วิธีและปริมาณที่ใช้ :
         
โดยนำเอากลีบเลี้ยง หรือกลีบรองดอกสีม่วงแดง ตากแห้งและบดเป็นผง ใช้ครั้งละ 1 ช้อนชา  (หนัก 3 กรัม) ชงกับน้ำเดือด 1 ถ้วย (250 มิลลิลิตร) ดื่มเฉพาะน้ำสีแดงใส ดื่มวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันทุกวันจนกว่าอาการขัดเบาและอาการอื่นๆ จะหายไป
สารเคมี
          ดอก  พบ Protocatechuic acid, hibiscetin, hibicin, organic acid, malvin, gossypetin
คุณค่าด้านอาหาร
          น้ำกระเจี๊ยบแดง มีรสเปรี้ยว นำมาต้มกับน้ำ เติมน้ำตาล ดื่มแก้ร้อนใน กระหายน้ำ และช่วยป้องกันการจับตัวของไขมันในเส้นเลือดได้ และยังนำมาทำขนมเยลลี่ แยม หรือใช้เป็นสารแต่งสี ใบอ่อนของกระเจี๊ยบเป็นผักได้ หรือใช้แกงส้ม รสเปรี้ยวกำลังดี กระเจี๊ยบเปรี้ยวมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า "ส้มพอเหมาะ" ในใบมี วิตามินเอ ช่วยบำรุงสายตา ส่วนกลีบเลี้ยงและกลีบดอก มีสารแคลเซียม ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง          น้ำกระเจี๊ยบแดงที่ได้สีแดงเข้ม สาร Anthocyanin นำไปแต่งสีอาหารตามต้องการ

กลุ่มยารักษาเบาหวาน -อินทนิลน้ำ

อินทนิลน้ำ

ชื่อวิทยาศาสตร์  Lagerstroemia speciosa (L.) Pers.
ชื่อสามัญ  Queen's crape myrtle , Pride of India
วงศ์  LYTHRACEAE
ชื่ออื่น :   ฉ่วงมู  ฉ่องพนา (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) ตะแบกดำ (กรุงเทพฯ)  บางอบะซา (มลายู-ยะลา, นราธิวาส) บาเย  บาเอ (มลายู-ปัตตานี) อินทนิล (ภาคกลาง, ใต้)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบ แต่ผลิใบใหม่ไว สูง 5-20 เมตร ลำต้น ต้นเล็กมักคดงอ แต่พอใหญ่ขึ้นจะเปลา ตรง โคนต้นไม้ไม่ค่อยพบพูพอน มักจะมีกิ่งใหญ่แตกจากลำต้นสูงเหนือพื้นดินขึ้นมาไม่มากนัก ดังนั้น เรือนยอดจึงแผ่กว้าง พุ่มแบบรูปร่มและคลุมส่วนโคนต้นเล็กน้อยเท่านั้น ต้นอินทนิลน้ำที่พบตามธรรมชาติในป่าทั่วๆ ไป จะมีเรือนยอดคลุมลำต้นประมาณเก้าในสิบส่วนของความสูงทั้งหมด ผิวเปลือกนอกสีเทาหรือน้ำตาลอ่อน และมักจะมีรอยด่างเป็นดวงสีขาวๆ ทั่วไป ผิวของเปลือกค่อนข้างเรียบ ไม่แตกเป็นร่องหรือเป็นรอยแผลเป็น  เปลือกหนาประมาณ 1 ซม.  เปลือกในออกสีม่วง  ใบ เป็นชนิดใบเดี่ยว ออกตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย ทรงใบรูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปหอก  กว้าง 5-10 ซม. ยาว 11-26 ซม. เนื้อใบค่อนข้างหนา เกลี้ยง เป็นมันทั้งสองด้าน โคนใบมนหรือเบี้ยวเยื้องกันเล็กน้อย ปลายใบเรียวและเป็นติ่งแหลม เส้นแขนงใบ มี 9-17 คู่ เส้นโค้งอ่อนและจะจรดกับเส้นถัดไปบริเวณใกล้ๆ ขอบใบเส้นใบย่อยเห็นไม่เด่นชัดนัก ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นบ้างเล็กน้อย ก้านใบยาวประมาณ 1 ซม. เกลี้ยง ไม่มีขน ดอก โต มีสีต่างๆ กัน เช่น สีม่วงสด ม่วงอมชมพู หรือม่วงล้วนๆ ออกรวมกันเป็นช่อโต  ยาวถึง 30 ซม. ตามปลายกิ่งหรือตามง่ามใบตอนใกล้ๆ ปลายกิ่ง ตรงส่วนบนสุดของดอกตูมจะมีตุ่มกลมเล็กๆ ตั้งอยู่ตรงกลาง ผิวนอกของกลีบฐานดอกซึ่งติดกันเป็นรูปถ้วยหรือรูปกรวยหงายจะมีสันนูนตามยาวปรากฎชัด และมีขนสั้นปกคลุมประปราย กลีบดอกบาง รูปช้อนที่มีโคนกลีบเป็นก้านเรียว ผิวกลีบเป็นคลื่นๆ บ้างเล็กน้อย เมื่อบานเต็มที่จะมีรัศมีกว้างถึง 5 ซม. รังไข่ กลม เกลี้ยง ผล รูปไข่เกลี้ยงๆ ยาว 2-2.5 ซม.  เมื่อแก่จะแยกออกเป็น 6 เสี่ยง เผยให้เห็นเมล็ดเล็กๆ ที่มีปีกเป็นครีบบางๆ ทางด้านบน
ส่วนที่ใช้ :
ใบ เปลือก ราก เมล็ด
สรรพคุณ :
  • ใบ - รักษาโรคเบาหวาน ลดน้ำตาลในเส้นเลือด ขับปัสสาวะ
1.        ก่อนใช้ใบอินทนิลน้ำรักษาโรคเบาหวาน คนไข้ควรให้แพทย์ตรวจน้ำตาลในเลือดหรือในปัสสาวะดูเสียก่อนว่า "มีปริมาณน้ำตาลในเลือดอยู่เท่าใด" เมื่อทราบปริมาณน้ำตาลในเลือดแน่อนอนแล้ว จึงปฏิบัติดังนี้คือ
2.        ให้ใช้ใบอินทนิลน้ำตากแห้งจำนวน 10% ของปริมาณน้ำตาลในเลือดของคนไข้ เช่น คนไข้มีน้ำตาลในเลือด 300 มิลลิกรัม ให้ใช้ใบอินทนิลน้ำ 30 ใบ บีบให้แตกละเอีดย
3.        และใส่น้ำบริสุทธิ์เท่าปริมาณความต้องการของคนไข้ผู้นั้นใช้ดื่มในวันหนึ่งๆ เทลงในหม้อเคลือบ หรือหม้อดิน ไม่ควรใข้ภาชนะอลูมิเนียมต้มยา แล้วเคี่ยวให้เดือดประมาณ 15 นาที
4.        นำน้ำยาใบอินทนิลน้ำชงใส่ภาชนะไว้ให้คนไข้ดื่มแทนน้ำตลอดวัน ติดต่อกันไป 20-30 วัน จึงควรตรวจน้ำตาลในเลือดของคนไข้ผู้นั้นอีกครั้งหนึ่ง
  1. เมื่อปรากฎว่าปริมาณน้ำตาลในเลือดของคนไข้ลดปริมาณเหลือน้อยลงก็ให้ลดจำนวนใบอินทนิลน้ำลงตามปริมาณน้ำตาลในเลือดของคนไข้ สมมุติว่า น้ำตาลในเลือดของคนไข้ลดลงเหลือ 200 มิลลิกรัม ก็ควรลดจำนวนอินทนิลน้ำลงเหลือ 20 ใบ แล้วนำไปต้มเคี่ยวให้คนไข้ดื่มน้ำ ดื่มต่อไปทุกๆ วันติดต่อกัน 15-21 วัน จึงควรตรวจปริมาณน้ำตาลในเลือดของคนไข้อีกครั้งหนึ่ง หากน้ำตาลลดลงอีกก็ให้ลงปริมาณใบอินทนิลน้ำให้เหลือ 10% ของปริมาณน้ำตาลในเลือดของคนไข้ จนกระทั่งน้ำตาลลดลงอยู่ในระดับปกติ จึงควรงดใช้ใบอินทนิลน้ำให้คนไข้รับประทานชั่วคราว
  2. หากปริมาณน้ำตาลในเลือดของคนไข้เพิ่มขึ้นผิดปกติเมื่อใด ก็ให้คนไข้เริ่มรับประทานใบอินทนิลน้ำใหม่ สลับกันจนกว่าคนไข้ผู้นั้นจะหายป่วยจากโรคเบาหวาน เป็นปกติ

กลุ่มยารักษาเบาหวาน -สัก

สัก

ชื่อวิทยาศาสตร์  Tectona grandis  L.f.
ชื่อสามัญ  Teak
วงศ์  LABIATAE
ชื่ออื่น :  เคาะเยียโอ (ละว้า-เชียงใหม่) ปายี้ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี)  ปีฮือ เป้อยี (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)  เส่บายี้ (กะเหรี่ยง-กำแพงเพชร)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : : ไม้ผลัดใบสูงตั้งแต่ 20 เมตรขึ้นไป ลำต้นเปลาตรง โคนเป็นพูพอนต่ำ ๆ เรือนยอดเป็นพุ่มทรงกลมค่อนข้างทึบ เปลือกสีเทา เรียบหรือแตกเป็นร่องตื้นตามความยาวลำต้น เปลือกในสีเขียวอ่อน ใบ เดี่ยว เรียบตรงข้าม ปลายแหลม โคนมน ยาว 25-40 เซนติเมตร กว้าง 20-30 เซนติเมตร ใบต้นอ่อนจะใหญ่กว่านี้มาก ด้านล่างสีเขียวเข้ม ด้านบนสีอ่อนกว่า ผิวใบมีขนสากมือ มีต่อมเล็ก ๆ สีแดง ขยี้ใบจะมีสีแดงเหมือนเลือด ดอก ขนาดเล็ก สีขาวนวล ออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ผล แห้งค่อนข้างกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร เปลือกแข็ง เมล็ด มี 1-3 เมล็ด
ส่วนที่ใช้
ใบ เนื้อไม้ เปลือก ดอก
สรรพคุณ :
  • ใบ  -  รสเผ็ดเล็กน้อย
    - รับประทานเป็นยาลดน้ำตาลในเลือด
    - บำรุงโลหิต รักษาประจำเดือนไม่ปกติ แก้พิษโลหิต
    - ขับลม ขับปัสสาวะ แก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ
    - ทำยาอม แก้เจ็บคอ
  • เนื้อไม้
    - รสเผ็ดเล็กน้อย
    - รับประทานเป็นยา ขับลม ขับปัสสาวะ ได้ดีมาก ใช้แก้บวม
    - บำรุงโลหิต แก้ลมในกระดูก แก้อ่อนเพลีย
    - แก้ไข้ คุมธาตุ
    - ขับพยาธิ รักษาโรคผิวหนัง
  • เปลือก - ฝาดสมาน
  • ดอก - ขับปัสสาวะ
วิธีและปริมาณที่ใช้
  • ใช้ใบ - ต้มกับน้ำ รับประทานเป็นยาลดน้ำตาลในเลือด

กลุ่มยารักษาเบาหวาน -บุก

บุก
ชื่อวิทยาศาสตร์  Amorphophallus campanulatus  Bl.ex Dence.(A.paeoniifolius (Dennst.) Nicolson
ชื่อสามัญ  Elephant yam, Stanley's water-tub
วงศ์  ARACEAE
ชื่ออื่น :  บุกคุงคก (ชลบุรี) เบีย เบือ (แม่ฮ่องสอน) มันซูรัน (ภาคดลาง)  หัวบุก (ปัตตานี) บุกคางคก  (ภาคกลาง, เหนือ) บุกหนาม บุกหลวง (แม่ฮ่องสอน)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : : ไม้ล้มลุกเนื้ออ่อน ลำต้นอวบ สีเขียวเข้ม ตามต้นมีรอยด่างเป็นดวงๆ เขียวสลับขาว ใบเป็นชนิดใบเดี่ยว แตกใบที่ยอด กลุ่มใบแผ่เป็นแผงคล้ายร่มกาง ก้านใบต่อเนื่องกันเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 5 – 7 ใบ รูปใบยาวปลายใบแหลม ขนาดใบยาว 12 – 15 ซม. สำต้นสูง 1 – 2 เมตร ดอกบุกเป็นสีเหลือง บานในตอนเย็นมีกลิ่นเหม็น คล้ายหน้าวัว ประกอบด้วยปลี และจานรองดอก จานรองดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 12 – 15 ซม. เกสรตัวผู้และตัวเมียรวมอยู่ในดอกเดียวกัน แต่แยกกันอยู่คนละชั้น เมื่อบานจานรองดอกจะโรย เหลืออยู่แต่ปลีดอก ซึ่งจะกลายเป็นผล ก่อนออกดอกต้นจะตายเหลือแต่หัว ซึ่งเป็นก้อนกลมสีขาว ขนาด 6 – 10 ซม. เจริญเติบโตอยู่ใต้ดิน
ส่วนที่ใช้ :  เนื้อจากลำต้นใต้ดิน หัว
สรรพคุณ : หัวบุกมีสารสำคัญ คือกลูโคแมนแนน เป็นสารประเภท คาร์โบไฮเดรท ซึ่งประกอบด้วย กลูโคลส แมนโนส และฟลุคโตส  กลูโคแมนแนน สามารถลดปริมาณน้ำตาลในเลือดได้ ก็เนื่องจากความเหนี่ยว ซึ่งยับยั้งการดูดซึมของกลูโคลสจากทางเดินอาหาร ยิ่งหนืดมาก็ยิ่งมีผลลดการดูดซึมกลูโคลส ดังนั้น กลูโคแมนแนน ซึ่งเหนียวกว่า gua gum จึงลดน้ำตาลได้ดีกว่า จึงใช้แป้งเป็นวุ้นเป็นอาหารสำหรับผู้ป่ายโรคเบาหวาน สำหรับผู้ป่วยเป็นโรคมีไขมันในเลือดสูง
วิธีและปริมาณที่ใช้
  • แยกเป็นแป้งส่วนที่เป็นเนื้อทราย แล้งชงน้ำดื่ม
    ใช้แป้ง 1 ช้อนชา ต่อน้ำ 1 แก้ว ชงดื่มวันละ 2-3 มื้อ ก่อนอาหารครึ่งชั่วโมง
  • ใช้หัวหุงเป็นน้ำมัน ใส่บาดแผล กัด ฝ้าหนอง
ส่วนที่เป็นพิษ เหง้าและก้านใบถ้าปรุงไม่ดี กินเข้าไปทำให้คันปากและลิ้นพอง

กลุ่มยารักษาเบาหวาน -โทงเทง

โทงเทง
ชื่อวิทยาศาสตร์  Physalis angulata  L.
ชื่อสามัญ  Hogweed, Ground Cherry
วงศ์  SOLANACEAE
ชื่ออื่น :  ต้อมต๊อก บาตอมต๊อก (เชียงใหม่)  ตะเงหลั่งเช้า (จีน)  ปุงปิง (ปัตตานี) ปิงเป้ง (หนองคาย)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุกขนาดเล็ก ลำต้นอวบน้ำเปลือกเกลี้ยงสีเขียว โคนสีม่วงแดงและสีค่อย ๆ จางลงเป็นสีเขียวใสเป็นเหลี่ยม ยอดเป็นสีเขียวอ่อน ลำต้นสูงประมาณ 25 - 50 เซนติเมตร สูงเต็มที่ 120 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านสาขา ใบ เป็นใบเดี่ยวสีเขียวเรียงสลับออกตามข้อ ๆ ละใบ มีก้านยาว 2 - 3 เซนติเมตร ลักษณะใบคล้ายใบพริก รูปหอกป้าน ปลายแหลมและขอบใบเรียบ ใบกว้าง 3 - 4 เซนติเมตร ยาว 4 - 7 เซนติเมตร มีเส้นแขนงใบ 5 - 7 คู่ ดอก ออกระหว่างก้านใบกับลำต้น ดอกเล็กคล้ายดอกพริก แต่กลีบดอกสั้นและแข็งกว่า ดอกตูมทรงรีปลายแหลม เวลาบานเป็นรูปแตร มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 - 2 เซนติเมตร กลีบดอกชั้นในมีสีเหลืองอ่อน กลีบดอกชั้นนอกหรือกลีบเลี้ยงมีสีเขียวอ่อน จำนวน 5 กลีบ ซึ่งจะเจริญเติบโตขยายตัวหุ้มผลภายในไว้หลวม ๆ ทำให้ดูเสมือนว่าผลพอง ออกดอกตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เรื่อยไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน ผล ผลโทงเทงมีกลีบดอกชั้นนอกหุ้มเหมือนโคมจีนสีเขียวอ่อนมีลายสีม่วง ผลภายในมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร ผลกลมใสมีสีเขียวอ่อน และเมื่อสุกกลายเป็นสีเหลือง เมล็ด ในผลมีเมล็ดขนาดเล็กมีจำนวนมาก รูปกลมแบน เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.2 - 0.3 มิลลิเมตร มีเมือกหุ้มคล้ายมะเขือเทศจำนวนมาก
ส่วนที่ใช้ :  ทั้งต้น ราก เยื่อหุ้มผลแห้ง
สรรพคุณ :
  • ทั้งต้น  - รักษาดีซ่าน ไอหืดเรื้อรัง แผลมีหนอง เจ็บคอ
  • ราก - ใช้ขับพยาธิ รักษาโรคเบาหวาน
วิธีและปริมาณที่ใช่
  • ยารักษาโรคหืด
    ใช้ทั้งต้นแห้ง 1/2 กิโลกรัม ต้มกับน้ำ เติมน้ำตาลกรวดลงไปให้หวาน รับประทานครั้งบะ 1/4 ถ้วยแก้ว วันละ 3 ครั้ง หลังอาหารเป็นเวลา 10 วัน หยุดยา 3 วัน รับประทานต่อไปอีก 10 วัน พักอีก 3 วัน แล้วรับประทานต่อไปอีก 10 วัน หอบหืดจะได้ผลดี
    ข้อควรระวัง - ในการรับประทานสมุนไพรโทงเทงนี้ใน 1-5 วันแรก บางคนอาจมีอาการอึดอัด เวียนศีรษะ นอนไม่หลับ หงุดหงิด หลังจากนั้นอาหารเหล่านี้จะหายไปเอง
  • ยารักษาแผลในปาก เจ็บคอ
    -
    ใช้เยื่อหุ้มผลแห้งที่เอาเมล็ดออกแล้วหนัก 10 กรัม เปลือกส้ม 6 กรัม ต้มกับน้ำผสมน้ำตาลกรวดพอหวานเล็กน้อย ใช้ดื่มต่างน้ำ
    - ใช้ทั้งต้น ตำละลายกับสุรา เอาสำลีชุบน้ำยาอมไว้ข้างแก้ม กลืนน้ำผ่านลำคอทีละน้อย แก้ต่อมน้ำลายอักเสบ (ต่อมทอนซิล) แก้ฝีในลำคอ (แซง้อ) หรือ ละลายกับน้ำส้มสายชูก็ได้ แก้ความอักเสบในลำคอได้ดีมาก
    ใช้ภายใน แก้ร้อนในกระหายน้ำ ใช้ภายนอก แก้ฟกบวมอักเสบ ทำให้เย็น
  • ยาขับพยาธิ รักษาโรคเบาหวาน
    ใช้รากต้มกับน้ำรับประทาน

กลุ่มยารักษาเบาหวาน -ชะพลู (ช้าพลู)

ชะพลู (ช้าพลู)
ชื่อวิทยาศาสตร์  Piper sarmentosum  Roxb.
ชื่อสามัญ  Wildbetal Leafbush
วงศ์  PIPERACEAE
ชื่ออื่น :  นมวา (ภาคใต้) ผักปูนา ผักพลูนก พลูลิง (ภาคเหนือ) เย่เท้ย (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุก ลำต้นทอดคลานไปตามพื้นดิน สูง 30-80 เซนติเมตร ลำต้นสีเขียว มีไหลงอกเป็นต้นใหม่ มีรากงอกออกตามข้อ  ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ แผ่นใบบาง ผิวใบเรียบสีเขียวเข้มเป็นมัน  ใบรูปหัวใจ กว้าง 5-10 ซม. ยาว 7-15 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบเว้า ดอก ออกเป็นช่อที่ซอกใบรูปทรงกระบอก ดอกเล็กสีขาวอัดแน่นอยู่บนแกนช่อดอก  ดอกแยกเพศ ผล เป็นผลสด กลม อัดแน่นอยู่บนแกน
ส่วนที่ใช้ :  
ผล ใบ ทั้งต้น ราก
สรรพคุณ :
  • ผล  -  เป็นส่วนผสมของยารักษาโรคหืด แก้บิด
  • ราก ต้น ดอก ใบ - ขับเสมหะ
  • ราก - แก้ธาตุพิการ บำรุงธาตุ แก้ท้องขึ้นอืดเฟ้อขับลม แก้บิด
  • ทั้งต้น
    - แก้เสมหะ ท้องอืด ท้องเฟ้อ
    - รักษาโรคเบาหวาน
วิธีและปริมาณที่ใช้
  • รักษาโรคเบาหวาน
    ใช้ชะพลูสดทั้ง 5 จำนวน 7 ต้น ล้างน้ำให้สะอาด ใส่น้พอท่วม ต้มให้เดือดสักพัก นำมาดื่ม เหมือนดื่มน้ำชา
    ข้อควรระวัง - จะต้องตรวจน้ำตาลในปัสสาวะก่อนดื่มและหลังดื่มทุกครั้ง เพราะว่าน้ำยานี้ทำให้น้ำตาลลดลงเร็วมาก ต้องเปลี่ยนต้นชะพลูใหม่ทุกวันที่ต้ม ต้มดื่มต่อไปทุกๆ วัน จนกว่าจะหาย
  • แก้ท้องอืดเฟ้อ ขับลม
    ใช้ราก 1 กำมือ ต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือ 1 1/2 ถ้วยแก้ว รับประประทานครั้งละ 1/2 ถ้วยแก้ว
  • แก้บิด
    ใช้รากครึ่งกำมือ ผล 2-3 หยิบมือ ต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือ 1 ถ้วยแก้ว รับประทานครั้งละ 1/4 ถ้วยแก้ว

กลุ่มยารักษาเบาหวาน -กระแตไต่ไม้

กระแตไต่ไม้
ชื่อวิทยาศาสตร์  Drynaria quercifolia  (L.) J.Sm.
วงศ์  POLYPODIACEAE
ชื่ออื่น :  กระแตไต่ไม้ (ภาคกลาง), กระปรอก (จันทบุรี), กระปรอกว่าว (ประจวบคีรีขันธ์, ปราจีนบุรี), กูดขาฮอก เช้าวะนะ พุดองแคะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), เดาน์กาโละ (มลายู-ปัตตานี), ใบหูช้าง สไบนาง (กาญจนบุรี), สะโมง (ส่วย-สุรินทร์), หัวว่าว (ประจวบคีรีขันธ์)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เฟิร์นอิงอาศัย เหง้าทอดยาว เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5-4 ซม. ยาวได้ถึง 1 ม. หรือมากกว่า มีเกล็ดสีน้ำตาลเข้ม เกล็ดแคบ กว้างประมาณ 1 มม. ยาวประมาณ 1.8 ซม. ปลายเรียวยาว รากสั้นๆ มีรากขนอ่อนสีน้ำตาล ใบเดี่ยว มีรูปร่างและหน้าที่ต่างกัน 2 แบบ ใบไม่สร้างอับสปอร์เป็นรูปไข่ กว้าง 10-25 ซม. ยาว 15-35 ซม. ปลายแหลม โคนมน ขอบหยักเว้ามนตื้นๆ เข้าหาเส้นกลางใบทั้ง 2 ด้าน ปลายมน ไม่มีก้านใบ ใบชนิดนี้จะมีสีเขียวอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและแห้งแต่ยังคงติดอยู่กับต้น ดังนั้นจะเห็นซ้อนกันหลายใบ เป็นที่สะสมของใบไม้แห้งที่ตกลงมา ซึ่งจะกลายเป็นปุ๋ยให้ต้น ใบสร้างอับสปอร์กว้าง 20-35 ซม. ยาว 0.6-1 ม. รูปคล้ายใบประกอบแบบขนนก ขอบหยักเว้าลึกเข้าหาเส้นกลางใบทั้ง 2 ด้าน แต่ละหยักลึกเกือบถึงเส้นกลางใบ ใบชนิดนี้มีสีเขียวตลอดอายุ เมื่อใบแก่แผ่นใบจะร่วงไป คงเหลือส่วนก้านใบและเส้นกลางใบติดอยู่กับต้น เส้นใบเป็นร่างแห กลุ่มอับสปอร์รูปกลมหรือรูปไข่ เรียงตัวค่อนข้างมีระเบียบ 2 ข้างของเส้นใบที่แบ่งกลางแต่ละแฉก
ส่วนที่ใช้ :  
ส่วนหัว
สรรพคุณ :
  • ส่วนหัวของกระแตไต่ไม้
    -
    ปรุงเป็นยาต้มรับประทานเป็นยาขับปัสสาวะ แก้นิ่ว แก้ปัสสาวะพิการและกระปริกระปรอย
    - ขับระดูขาว
    - แก้เบาหวาน
    - แก้ไตพิการ
    - เป็นยาคุมธาตุ
    - เป็นยาเบื่อพยาธิ
  • ใบ - ตำพอกแผล แก้แผลเรื้อรังและแผลพุพอง
วิธีใช้ : ใช้ส่วนหัวของกระแตไต่ไม้ ต้มรับประทาน