Golden Dreams TMS&Herb

วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

กลุ่มยาขับประจำเดือน -ส้มเสี้ยว

ส้มเสี้ยว

ชื่อวิทยาศาสตร์  Bauhinia malabarica  roxb.
วงศ์  LEGUMINOSAE-CAESALPINIODIDEAE
ชื่ออื่น :  คังโค (สุพรรณบุรี) แดงโค (สระบุรี) ป้าม (ส่วย-สุรินทร์) ส้มเสี้ยว (ภาคเหนือ) เสี้ยวส้ม (นครราชสึมา) เสี้ยวใหญ่ (ปราจีนบุรี)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :  ไม้ต้นขนาดกลาง สูงถึง 15 เมตร เปลือกต้นสีเทา เปลือกแตกเป็นสะเก็ดยาวตามลำต้น ใบ ทรงกลมเว้า ปลายเป็นพูกลมตื้นๆ ใบแก่เหนียว เรียบ ท้องใบมีนวล สีเขียวออกเทา ดอก ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบหรือตามง่ามใบ สีขาวออกเขียวหรือเหลืองอ่อน เป็นช่อเล็กๆ ออกดอกเดือน พฤษภาคม - มิถุนายน ผล เป็นฝักแบนยาว โค้งงอ ฝักอ่อนสีเขียว ฝักแก่แห้งสีน้ำตาล เมล็ดแบน ผิวเรียบมัน  มี 8-12 เมล็ด ออกผลเดือนกรกฏาคม - กันยายน แหล่งที่พบ ป่าเต็งรัง
ส่วนที่ใช้ :
ใบ เปลือกต้น
สรรพคุณ :
  • ใบ - มีรสเปรี้ยวฝาด เป็นยาขับโลหิตระดู และขับปัสสาวะ
    - แก้แผลเปื่อยพัง
    ใช้ใบส้มเสี้ยวร่วมกับยาระบาย ทำให้ขับเมือกเสมหะตกทางทวารหนักได้ดี
    ใช้ร่วมกับยาบำรุงโลหิตระดูที่เป็นลิ่มเป็นก้อนมีกลิ่นเหม็นให้ปกติดีขึ้น
  • เปลือกต้น - รสเปรี้ยวฝาด แก้ไอ ฟอกโลหิต

กลุ่มยาขับประจำเดือน -เปราะหอมขาว, เปราะหอมแดง

เปราะหอมขาว, เปราะหอมแดง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Kaempferia galanga L.
ชื่อสามัญ  Sand Ginger, Aromatic Ginger, Resurrection Lily
วงศ์  ZINGIBERACEAE
ชื่ออื่น :  หอมเปราะ (ภาคกลาง) ว่านตีนดิน ว่านแผ่นดินเย็น ว่านหอม (ภาคเหนือ)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : พืชล้มลุก อายุปีเดียว มีลำต้นเป็นหัวอยู่ใต้ดิน เรียกว่า เหง้า เนื้อภายในสีเหลืองอ่อน มีสีเหลืองเข้มตามขอบนอก มีกลิ่มหอมเฉพาะตัว ใบเป็นใบเดี่ยว แทงขึ้นจากเหง้าใต้ดิน 2-3 ใบ แผ่ราบไปตามพื้นดิน หรือวางตัวอยู่ในแนวราบเหนือพื้นดินเล็กน้อย ใบมีรูปร่างค่อนข้างกลมหรือรูปไข่ป้อม ปลายใบแหลม โคนใบมนหรือเว้าเล็กน้อย มีขนอ่อนบริเวณท้องใบ บางครั้งอาจพบขอบใบมีสีแดงคล้ำ เนื้อใบค่อนข้างหนา ตัวใบมีขนาดกว้าง 5-10 ซม. ยาว 7-15 ซม. ก้านใบเป็นกาบยาว 1-3 ซม.ดอกออกรวมกันเป็นช่อ ยาว 2-4 ซม.มี 4-12 ดอก ออกตรงกลางระหว่างใบ ดอกมีสีขาว หรือสีขาวอมชมพูแต้มสีม่วง แต่ละดอกมี กลีบประดับ 2 กลีบรองรับอยู่ ซึ่งใบและต้นจะเริ่มแห้งเมื่อมีดอก ผลเป็นผลแห้ง แตกได้ พบมากทางเหนือ ใบอ่อนม้วนเป็นกระบอกออกมาแล้วแผ่ราบบนหน้าดิน ต้นหนึ่งๆ มักมี 1 – 2 ใบ ใบมีรูปร่างทรงกลมโตยาว ประมาณ 5 – 10 ซม. หน้าใบเขียว เปราะหอมแดงจะมีท้องใบสีแดง เปราะหอมขาวจะมีท้องใบสีขาว มีกลิ่นหอม หัวกลมเหมือนหัวกระชาย ใบงอกงามในหน้าฝน และจะแห้งไปในหน้าแล้ง
ส่วนที่ใช้
ดอก ต้น หัว ใบทั้งสด หรือ แห้ง
สรรพคุณ : เปราะหอมขาว
  • ดอก  -  แก้เด็กนอนสะดุ้งผวา ร้องไห้ตาเหลือก ตาช้อนดูหลังคา
  • ต้น - ขับเลือดเน่าของสตรี
  • ใบ - ใช้ปรุงเป็นผักรับประทานได้
  • หัว
    - แก้โลหิต ซึ่งเจือด้วยลมพิษ
    - ปรุงเป็นเครื่องเทศสำหรับแกง สุมศีรษะเด็ก แก้หวัด คัดจมูก รับประทานขับลมในลำไส้
สรรพคุณ : เปราะหอมแดง
  • ใบ - แก้เกลื้อนช้าง
  • ดอก - แก้โรคตา
  • ต้น - แก้ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ
  • หัว - ขับเลือด และหนองให้ตก แก้ลมพิษ แก้ผื่นคัน แก้ไอ แก้บาดแผล
  • หัวและใบ - ใช้ในการปรุงเป็นอาหารได้
วิธีและปริมาณที่ใช้ :
  • ทั้งเปราะหอมขาว และเปราะหอมแดง ใช้เปราะหอมสด 10-15 กรัม หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ หัวสดใช้ 1/2-1 กำมือ ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว ดื่ม 1-2 ครั้ง
  • เปราะหอมขาวและแดง เป็นไม้ลงหัว จำพวกมหากาฬ ใบหนาแทงขึ้นมาจากหัวใต้ดิน ม้วนๆ คล้ายๆ หูม้า หน้าใบเขียว เปราะหอมขาว ท้องใบมีสีขาว เปราะหอมแดง ท้องใบมีสีแดง ใบยาวราว 3-4 นิ้วฟุต ใบมีกลิ่นหอม ลงหัวกลมๆ เป็นไม้เจริญในฤดูฝนพอย่างเข้าฤดูหนาว ต้นและใบก็โทรมไป เปราะหอมทั้งสองรสเผ็ดขม แก้เสมหะ เจริญไฟธาตุ แก้ลมทิ้ง

กลุ่มยาขับประจำเดือน -ตาเสือ

ตาเสือ
ชื่อวิทยาศาสตร์  Amoora culcullata Roxb.
วงศ์  MELIACEAE
ชื่ออื่น :  แดงน้ำ (ภาคใต้)  ตาเสือ, โกล (ภาคกลาง) เซ่ (แม่ฮ่องสอน)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก-กลาง อาจสูงถึง 18 เมตร ไม่ผลัดใบ เปลือกเรียบ สีชมพูอมเทา มีรากหายใจรูปคล้ายหมุด ยาว 30-50 ซม. จากผิวดิน หนาแน่นบริเวณโคนต้น ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ยาว 20-40 ซม. ขอบใบรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ไม่สมมาตรกัน ขนาด 3-6 x 8-17 ซม. ปลายใบแหลมถึงมน ฐานใบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ผิวใบด้านบนเป็นมัน ดอก ออกเป็นช่อ เพศผู้เป็นแบบช่อแยกแขนง ช่อดอกห้อยลง แต่ละดอกมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.3-0.4 ซม. สีเหลือง ดอกเพศเมียเป็นแบบช่อกระจะ มีดอกจำนวนน้อย วงกลีบเลี้ยงแยกเป็น 3 แฉก กลีบดอก 3 กลีบ ผล ค่อนข้างกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 5-7 ซม. มี 3 พลู ผลแก่แห้งแตกกลางพลู เมล็ด มีเยื่ออ่อนนุ่มสีแดงหุ้ม
          เป็นพรรณไม้ที่ขึ้นอยู่ด้านในของป่าชายเลน บริเวณน้ำกร่อยตามริมชายฝั่งของแม่น้ำที่ได้รับอิทธิพลจากการขึ้น-ลงของน้ำทะเล
ส่วนที่ใช้ :
เปลือกต้น เนื้อไม้ ผล ใบ
สรรพคุณ :
  • เปลือกต้น  -  รสฝาด กล่อมเสมหะ ขับโลหิต
  • เนื้อไม้ - รสฝาด แก้ธาตุพิการ แก้ท้องเสีย
  • ผล - แก้ปวดตามข้อต่างๆ ในร่างกาย
  • ใบ - แก้บวม 

กลุ่มยาขับประจำเดือน -ว่านสากเหล็ก

ว่านสากเหล็ก

ชื่อวิทยาศาสตร์  Molineria latifolia  Herb. ex Kurz
วงศ์  HYPOXIDACEAE
ชื่ออื่น :  จ๊าลาน มะพร้าวนกคุ่ม (เชียงใหม่)  พร้าวนก พร้าวนกคุ่ม (นครศรีธรรมราช)  ละโมยอ (มาลายู-นราธิวาส)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุก ลักษณะคล้ายพืชพวกปาล์ม ใบ เรียงสลับติดกันที่โคนต้น แผ่นใบรูปขอบขนานแกมรูปหอก พับเป็นร่อง ๆ ตามยาว คล้ายใบปาล์ม กว้างประมาณ 4 – 6 เซนติเมตร ยาวประมาณ 30 – 40 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลมโคนใบสอบแคบ ก้านใบยาว 25 – 30 เซนติเมตร โคนแผ่กว้างหุ้มลำต้น ดอก มี 6 กลีบ สีเหลือง โคนเชื่อมติดกัน เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 – 2.5 เซนติเมตร ดอกออกรวมกันแน่น เป็นช่อรูปทรงกระบอกปลายแหลม ยาว 5 – 7 เซนติเมตร กว้าง ประมาณ 4 – 5 เซนติเมตร ผล ผลแก่สีขาวถึงแดง ขนาดยาวประมาณ 4 – 5 เซนติเมตร ส่วนที่ด้านขั้วป่อง ออกเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร และค่อย ๆ เรียวไปทางปลายผล ขยายพันธุ์ โดยการใช้เมล็ด
ส่วนที่ใช้
ราก
สรรพคุณ :
  • ราก  -  รับประทานเป็นยาชักมดลูก เช่น คลอดบุตรใหม่ๆ มดลูกลอย เพราะความอักเสบ เนื่องจากความเคลื่อนไหวของมดลูกจากที่เดิมให้เป็นปกติ
วิธีใช้ : นำรากมาหั่นบางๆ ตากแห้ง ดองกับสุรารับประทานเป็นยาชักมดลูก 

กลุ่มยาขับประจำเดือน -ว่านชักมดลูก

ว่านชักมดลูก

ชื่อวิทยาศาสตร์  Curcuma xanthorrhiza  Roxb.
วงศ์  ZINGIBERACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 1 เมตร หัวใต้ดินขนาดใหญ่ อาจยาวถึง 10 ซม. เนื้อสีส้มถึงสีส้มแดง ใบเดี่ยว เรียงสลับ ออกเป็นกระจุกเหนือดิน รูปวงรีหรือรูปวงรีแกมใบหอกกว้าง 15 - 20 ซม. ยาว 40 - 90 ซม. มีแถบสีม่วงกว้างได้ถึง 10 ซม. บริเวณกลางใบ ดอกช่อเชิงลด ออกที่บริเวณกาบใบ ก้านดอกยาว 15 - 20 ซม. กลีบดอกสีแดงอ่อน ใบประดับสีม่วง เกสรตัวผู้ที่เป็นหมัน แปรรูปคล้ายกลีบดอกสีเหลือง ผลแห้ง แตกได้
ส่วนที่ใช้
เหง้า ราก
สรรพคุณ
:
  • ราก - แก้ท้องอืดเฟ้อ
  • เหง้า
    - เป็นยาบีบมดลูก ทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วหลังจากการคลอดบุตร ทำให้ประจำเดือนมาปกติ ขับประจำเดือนในกรณีที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ รักษาโรคมดลูกพิการปวดบวม
    - แก้ปวดมดลูก
    - แก้ริดสีดวงทวาร
    - แก้ไส้เลื่อน
    - ขับเลือด ขับลม ขับน้ำคาวปลา แก้โรคลม
    - รักษาอาการอาหารไม่ย่อย

กลุ่มยาขับประจำเดือน -ฝ้ายตุ่น

ฝ้ายตุ่น

ชื่อวิทยาศาสตร์ Gossypium herbaceum  L.
ชื่อสามัญ  White cotton
วงศ์  MALVACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่ม ลำต้น มีสีน้ำตาลแดงอาจเป็นเหลี่ยม ใบ เดี่ยว รูปไข่กว้าง ปลายใบแหลม ขอบใบหยัก 3-5 หยัก ฐานใบเป็นรูปหัวใจ ก้านใบค่อนข้างยาว ดอก เดี่ยว มีใบประดับ 5 กลีบติดกัน กลีบดอกสีเหลือง ผล กลมปลายยาวแหลม เมล็ด รูปไข่ มีขนสีขาวยาว 3.7-5 เซนติเมตร รอบๆ
ส่วนที่ใช้ :
 เปลือกต้น ราก
สรรพคุณ : เปลือกต้น ราก  -   ปรุงรับประทานเป็นยาขับโลหิตระดู ทำให้มดลูกบีบตัวอย่างแรง อาจทำให้เกิดการแท้งบุตรได้ง่าย
รับประทานเป็นยาต้ม 1 ใน 5 หรือน้ำยาสกัดและทิงเจอร์ (1ใน 4) ครั้งละ 2-4 ซีซี.

กลุ่มยาขับประจำเดือน -เจตมูลเพลิงแดง

เจตมูลเพลิงแดง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Plumbago indica  L.
วงศ์  PLUMBAGINACEAE
ชื่ออื่น :  คุยวู่ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี)  ตั้งชู้โว้ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ปิดปิวแดง (ภาคเหนือ) ไฟใต้ดิน (ภาคใต้)  อุบะกูจ๊ะ (มลายู-ปัตตานี)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุกอายุหลายปี สูง 0.5-2 เมตร กิ่งก้านมักทอดยาว ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีแกมรูปไข่ ยาว 3-13 ซม. โคนใบมนหรือกลม ปลายใบแหลม ใบบาง ดอกออกเป็นช่อแบบช่อกระจะเชิงลด ยาว 20-90 ซม. ก้านช่อดอกยาว 1-3 ซม. มีดอกจำนวนมาก ใบประดับและใบประดับย่อยรูปไข่ขนาดเล็ก ยาว 0.2-0.3 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปใบหอก ยาว 0.8-0.9 ซม. มีต่อมทั่วไป ดอกสีแดงหรือม่วง หลอดกลีบดอกยาว 2-2.5 ซม. ปลายแยกเป็น 5 แฉก รูปไข่กลับ ยาวประมาณ 2 ซม. ปลายกลีบกลม เป็นติ่งหนามตอนปลาย เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดตรงข้ามกลีบดอก อับเรณูยาวประมาณ 2 มม. รังไข่รูปรี ก้านเกสรเพศเมียมีหลายขนาด มีขนยาวที่โคน
ส่วนที่ใช้
ราก
สรรพคุณ
: เป็นยาขมเจริญอาหาร แก้ธาตุพิการ เป็นยาบำรุง เป็นยาขับประจำเดือน เป็นยาฆ่าเชื้อโรค
วิธีใช้
  • เป็นยาขมเจริญอาหารใช้รากแห้งผสมกับ ผลสมอพิเภก ดีปลี ขิง  อย่างละเท่าๆ กัน บดเป็นผงรวมกัน รับประทานกับน้ำร้อน ครั้งละ 2.5 กรัม ประมาณ 1 ช้อนแกง
    ข้อควรระวัง - สตรีที่ตั้งครรภ์ไม่ควรใช้ยานี้
  • เป็นยาขับประจำเดือนใช้รากแห้ง 1-2 กรัม ต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว รับประทานครั้งละ 1/4 ถ้วยแก้ว

กลุ่มยาขับประจำเดือน -เจตมูลเพลิงขาว

เจตมูลเพลิงขาว

ชื่อวิทยาศาสตร์  Plumbago zeylanica  L.
ชื่อสามัญ  
วงศ์ PLUMBAGINACEAE
ชื่ออื่น :  ตอชุวา, ตั้งชูอ้วย (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)  ปิดปิวขาว (ภาคเหนือ)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่มเตี้ยหรือไม้ล้มลุกอายุหลายปี สูง 1-3 เมตร กิ่งก้านมักทอดยาว ใบรูปไข่ ยาว 3-13 ซม. ปลายใบแหลมยาว ตอนปลายเป็นติ่ง โคนในรูปลิ่มหรือมน ใบบาง ช่อดอกแบบช่อกระจะเชิงลด ดอกจำนวนมาก แกนกลางและก้านช่อดอกมีต่อมไร้ก้าน (เจตมูลเพลิงแดงไม่มี) ช่อดอกยาวได้ประมาณ 15 ซม. ก้านช่อยาว 1.5-2 ซม. ใบประดับรูปไข่ ยาว 0.4-0.8 ซม. ใบประดับย่อยรูปแถบ ยาวประมาณ 0.2 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ยาวประมาณ 1 ซม. มีต่อมหนาแน่น กลีบดอกสีขาวหรือสีฟ้าอ่อน หลอดกลีบดอกยาวประมาณ 2 ซม. กลีบดอกรูปไข่กลับหรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ยาวประมาณ 0.7 ซม. ปลายแหลมหรือเป็นติ่ง อับเรณูสีน้ำเงิน ยาวประมาณ 0.2 ซม. รังไข่รูปรี เป็น 5 เหลี่ยม ก้านเกสรเพศเมียเกลี้ยง ผลแบบแคปซูล
ส่วนที่ใช้ :  ราก ต้น ใบ
สรรพคุณ :
  • ราก  -  เป็นยารักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อนและผื่นคัน ขับพยาธิ แก้ปวดข้อ ขับประจำเดือน ขับลมลำไส้ แก้อาการหาวเรอ
  • ต้น - เป็นยาขับระดู
  • ใบ - แก้ฟกช้ำ ฝีบวม มาเลเรีย
ข้อห้ามใช้ : ห้ามใช้ในหญิงท้อง จะทำให้แท้งได้ เพราะมีฤทธิ์ร้อนและบีบมดลูกเหมือนรากเจตมูลเพลิงแดง (Plumbago indica L.) แต่ฤทธิ์อ่อนกว่า
ข้อควรระวัง  : เมื่อทาเจตมูลเพลิงขาวแล้ว ให้สังเกตว่าโรคผิวหนังอาการดีขึ้นหรือไม่ ถ้ามีอาการปพุพองมากขึ้นให้รีบหยุดยา เพราะยาตัวนี้ ถ้าใช้มากจะทำให้เป็นแผลพุพองได้
ตำรับยาและวิธีใช้
  • ปวดข้อหรือเคล็ดขัดยอก
    ใช้รากแห้ง 1.5-3 กรัม ต้มน้ำหรือแช่เหล้า รับประทานครั้งละ 5 ซี.ซี. วันละ 2 ครั้ง
  • ขับประจำเดือน
    ใช้รากแห้ง 30 กรัม และเนื้อหมูแดง 60 กรัม ต้มน้ำดื่ม
  • แก้กลากเกลื้อน
    ใช้รากสด 1-2 ราก ตำให้ละเอียด ผสมกับน้ำหรือเหล้าหรือน้ำมันพืชเล็กน้อย ทาบริเวณที่เป็ฯ
  • แก้ไข้มาเลเรีย
    ใช้ใบสด 7-8 ใบ ตำละเอียด พอกบริเวณชีพจรตรงข้อมือ 2 ข้าง ก่อนจะเกิดอาการ 2 ชั่วโมง (พอกจนกระทั่งบริเวณที่พอกรู้สึกเย็นจึงเอาออก)
  • ฝีคัณฑสูตร ฝีบวม เต้านมอักเสบ ไฟลามทุ่ง
    ใช้ใบสดพอประมาณ ตำให้ละเอียด ใช้ผ้าก๊อส 2 ชั้นห่อพอกบริเวณที่เป็นจนกระทั่งหาย
  • ฟกช้ำ ใช้ใบสด 1 กำมือ ตำให้ละเอียด ใส่เหล้าเล็กน้อย ทาบริเวณที่เป็น
  • สารเคมี  ราก มี plumbagin 3.3-bilumbagin, 3-chloroplumbagin

กลุ่มยาขับประจำเดือน -คัดเค้า (คัดเค้าเครือ)

คัดเค้า (คัดเค้าเครือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์  Oxyceros horridus Lour.  (Randia siamensis  Craib)
วงศ์  RUBIACEAE
ชื่ออื่น :  เขี้ยวกระจับ (ภาคใต้) คัดเค้า (เหนือ, ตะวันออกเฉียงเหนือ) คัดเค้าเครือ (นครราชสีมา) คัดเค้าหนาม (ชัยภูมิ) เค็ดเค้า (ภาคเหนือ)  จีเค๊า พญาเท้าเอว (กาญจนบุรี)  หนามลิดเค้า (เชียงใหม่)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ครึ่งพุ่งครึ่งเลื้อย มักทอดกิ่งยาว กลายเป็นลำเถาได้ง่าย มีหนามแหลมโค้งงอกลงมาคล้ายเขาควายเป็นคู่ อยู่ระหว่างคู่ใบ ตัวใบเป็นสีเขียวแก่ด้านๆ ดอกสีขาว หอมแรงมากส่งกลิ่นเวลาเย็นตลอดไปจนกลางคืน ดอก ออกที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่งเป็นช่อกระจุกสั้นๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางดอกประมาณ 1.5 ซม.โคนคอดเป็นหลอดปลายแยก 5 กลีบ ดอกที่เริ่มบานสีขาวนวล แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองนวลในวันต่อ
ส่วนที่ใช้
ผล
สรรพคุณ ใช้เป็นยาขับประจำเดือน
วิธีและปริมาณที่ใช้ :
ใช้ผล 1 กำมือ ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว รับประทานวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ขับประจำเดือน

กลุ่มยาขับประจำเดือน -แก้ว

แก้ว

ชื่อวิทยาศาสตร์  Murraya paniculata  (L.) Jack.
ชื่อสามัญ  Andaman satin wood, Chinese box tree, Orange jasmine
วงศ์  RUTACEAE
ชื่ออื่น :  กะมูนิง (มลายู-ปัตตานี) แก้วขาว (ภาคกลาง) แก้วขี้ไก่ (ยะลา) แก้วพริก ตะไหลแก้ว (ภาคเหนือ) แก้วลาย (สระบุรี) จ๊าพริก (ลำปาง)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง 10 เมตร ไม่ผลัดใบ ใบ เป็นใบประกอบ ผิวใบมันเข้ม และเป็นมันทั้งสองด้าน ดอก ช่อ ออกเป็นกระจุก สีขาว ร่วงง่าย มีกลิ่นหอมมาก ผล สดกลมรี หรือรูปไข่ ปลายสอบเล็กน้อย ที่เปลือกมีต่อมน้ำมันเห็นได้ชัด กว้าง 5-8 มม. ยาว 0.8-1 ซม. ผลอ่อนสีเขียว ผลสุกสีส้มแดง เมล็ดรูปไข่ปลายสอบ มีขนสั้นๆ อยู่รอบเมล็ด กว้าง 4-6 มม. ยาว 6-9 มม. สีขาวขุ่น มีจำนวน 1-2 เมล็ดต่อผล
ส่วนที่ใช้ :  
ราก ใบ
สรรพคุณ :  เป็นยาขับประจำเดือน
วิธีและปริมาณที่ใช้
:           ใช้รากแห้ง 10-15 กรัม (สด 30-60 กรัม) ต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว เคี่ยให้เหลือ 1 ถ้วยแก้ว รับประทานวันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร เช้า-เย็น

วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2555

กลุ่มยาขับประจำเดือน -กระบือเจ็ดตัว

กระบือเจ็ดตัว
ชื่อวิทยาศาสตร์  Excoecaria cochinchinensis  Lour. var.cochinchinensis
วงศ์ EUPHORBIACEAE
ชื่ออื่น กำลังกระบือ, ลิ้นกระบือ (ภาคกลาง)  ใบท้องแดง (จันทบุรี)
ส่วนที่ใช้ :
 ใบ ยางจากต้น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่ม สูงได้ถึง 1.5 ม. มียางขาว ใบเดี่ยว มีทั้งเรียงตรงข้ามและเรียงสลับ รูปรี รูปไข่ หรือรูปไข่กลับ กว้าง 1.5-4 ซม. ยาว 4-12 ซม. ปลายแหลม โคนสอบ ขอบจักฟันเลื่อย แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีม่วงแดงหรือม่วงน้ำตาล เส้นแขนงใบข้างละ 7-12 เส้น ก้านใบยาว 0.5-1.5 ซม. ดอกแยกเพศ อยู่ต่างต้น ออกตามง่ามใบ ข้างใบ หรือปลายยอด ยาว 1-2 ซม. ช่อดอกเพศผู้มีดอกเล็กๆ จำนวนมาก โคนก้านดอกมีใบประดับเล็กๆ ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยง 3 กลีบ เล็กมาก เกสรเพศผู้เล็กมาก มี 3 อัน ช่อดอกเพศเมียสั้นกว่าช่อดอกเพศผู้และมีดอกเล็กๆ 3-6 ดอก ก้านดอกยาว 2-5 มม. โคนก้านดอกมีใบประดับเล็กๆ และมีต่อมเล็กๆ สีเหลือง กลีบเลี้ยงเล็ก มี 3 กลีบ รูปไข่ รังไข่เล็ก สีเขียวอมชมพู มี 3 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียมี 3 อัน ผลเล็ก ค่อนข้างกลม มี 3 พู
สรรพคุณ :
  • ใบ  -   ขับน้ำคาวปลาหลังคลอด เป็นยาขับเลือดเน่าสำหรับสตรีในเรือนไฟ
  • ยางจากต้น - เป็นพิษ ใช้เบื่อปลา
วิธีใช้ :  นำใบมาตำกับสุรา คั้นเอาน้ำรับประทาน