Golden Dreams TMS&Herb

วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

สมุนไพรให้สีแต่งสีอาหาร -อัญชัน

อัญชัน
ชื่อวิทยาศาสตร์  Clitoria ternatea L.
ชื่อสามัญ  Blue Pea, Butterfly Pea
วงศ์  LEGUMINOSAE-PAPILIONOIDEAE
ชื่ออื่น :  แดงชัน (เชียงใหม่); อัญชัน (ภาคกลาง); เอื้องชัน (ภาคเหนือ)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุกเลื้อยพัน ยาว 1-5 เมตร ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ใบย่อย 3-9 ใบ รูปรีแกมขอบขนานหรือรูปรีแกมไข่กลับ กว้าง 1-3 ซม. ยาว 2-5 ซม. ดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบ กลีบดอกรูปดอกถั่ว สีน้ำเงิน ม่วงหรือขาว ตรงกลางกลีบสีเหลืองหม่นขอบสีขาว ผลเป็นฝัก รูปดาบ โค้งเล็กน้อย ปลายเป็นจะงอย แตกเป็น 2 ฝา เมล็ดรูปไต จำนวน 6-10 เมล็ด
ส่วนที่ใช้ :
  • กลีบดอกสดสีน้ำเงิน จากต้นอัญชันดอกสีน้ำเงิน
  • รากของต้นอัญชันดอกขาว
สรรพคุณและวิธีใช้ :
  • ดอกสีน้ำเงิน ใช้เป็นสีแต่งอาหาร ขนม
    ใช้กลีบดอกสด ตำเติมน้ำเล็กน้อย กรองด้วยผ้าขาวบาง คั้นเอาน้ำออก จะได้น้ำสีน้ำเงิน (Anthocyanin) ใช้เป็น indicator แทน lithmus
    ถ้าเติมน้ำมะนาวลงไปเล็กน้อย จะกลายเป็นสีม่วง ใช้แต่งสีอาหารตามต้องการ มักนิยมใช้แต่งสีน้ำเงินของขนมเรไร ขนมน้ำดอกไม้ ขนมขี้หนู
  • รากต้นอัญชันดอกสีขาว
    ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ยาระบาย
สารเคมี :  anthocyanin

สมุนไพรให้สีแต่งสีอาหาร -ฝาง

ฝาง
ชื่อวิทยาศาสตร์  Caesalpinia sappan L.
ชื่อสามัญ  Sappan Tree
วงศ์  LEGUMINOSAE-CAESALPINIOIDEAE
ชื่ออื่น :  ง้าย (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี); ฝาง (ทั่วไป); ฝางส้ม (กาญจนบุรี)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :   ไม้พุ่มแตกกิ่งที่โคน สูง 5-8 เมตร สำต้นมีหนามโค้งสั้นๆ และแข็งทั่วทุกส่วน ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับกัน ใบย่อยรูปไข่หรือรูปขอบขนานกว้าง 0.6-0.8 ซม. ยาว 1.5-1.8 ซม. โคนใบเฉียง ดอก ช่อ ออกที่ซอกใบตอนปลายกิ่งและที่ปลายกิ่ง กลีบรองดอกมี 5 กลีบ ขอบกลีบเกยซ้อนกัน กลีบล่างสุดโค้งงอและใหญ่กว่ากลีบอื่น กลีบดอกสีเหลือง มี 5 กลีบ เกสรตัวผู้มี 10 อัน แยกเป็นอิสระ ผล เป็นฝักแบนแข็งเป็นจงอยแหลม เปลือกเป็นสันมน ปลายแหลม  มีเมล็ดเป็นรูปรี 2-4 เมล็ด
ส่วนที่ใช้
แก่นของไม้มีสีแดง
                - มี วัตถุไม่มีสี ชื่อ Haematoxylin อยู่ 10% วัตถุนี้เมื่อถูกอากาศ อาจจะกลายเป็นสีแดง
                - มี แทนนิน เรซิน และน้ำมันระเหยนิดหน่อย
สรรพคุณ :
  • ฝาง มี 2 ชนิด ชนิดหนึ่งแก่นสีแดงเข้ม เรียกว่า ฝางเสน อีกชนิดหนึ่งแก่นสีเหลือง เรียกว่าฝางส้ม ใช้ทำเป็นยาต้ม 1 ใน 20 หรือยาสกัดสำหรับ Haematoxylin ใช้เป็นสีสำหรับย้อม Nuclei ของเซล ใช้แก่นฝางต้มเคี่ยว จะได้น้ำสีแดงเข้มคล้ายด่างทับทิมใช้ย้อมผ้าไหม งามดีมาก  ใช้แต่งสีอาหาร ทำยาอุทัย
สรรพคุณทางยา
  •  แก่นฝาง
    - รสขื่นขมหวาน ฝาด รับประทานเป็นยาบำรุงโลหิตสตรี ขับประจำเดือน แก้ปอดพิการ ขับหนอง ทำโลหิตให้เย็น รับประทานแก้ท้องร่วง แก้ธาตุพิการ แก้ร้อน แก้โลหิตออกทางทวารหนักและเบา
    - รักษาน้ำกัดเท้า แก้คุดทะราด แก้เสมหะ แก้โลหิต แก้เลือดกำเดา
  • น้ำมันระเหย - เป็นยาสมานอย่างอ่อน แก้ท้องเดิน
วิธีและปริมาณที่ใช้
  • แต่งสี ย้อมสี
    นำแก่นฝางเสนหรือฝางส้ม มาแช่น้ำหรือต้มเคี่ยวจะได้สีชมพูเข้ม (Sappaned) นำมาใช้ตามต้องการ
  • เป็นยาขับประจำเดือน
    ใช้แก่น 5-15 กรัม หรือ 5-8 ชิ้น ต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว เติมเนื้อมะขามที่ติดรกอยู่ (แกะเมล็ดออกแล้ว) ประมาณ 4-5 ฝัก เคี่ยวให้เหลือ 1 แก้ว รับประทาน เช้า-เย็น
  • เป็นยารักษาน้ำกัดเท้า
    ใช้แก่น 2 ชิ้น ฝนแก่นฝางกับน้ำปูนให้ข้นๆ ทาบริเวณที่น้ำกัดเท้า ในแก่นฝางมีตัวยาฝาดสมาน
แก้ท้องร่วง ท้องเดิน
ใช้แก่น หนัก 3-9 กรัม 4-6 ชิ้น ต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือ 1 ถ้วยแก้ว รับประทานครั้งละครึ่งถ้วยแก้ว หรือใช้ฝาง 1 ส่วน น้ำ 20 ส่วน ต้มเคี่ยว 15 นาที รับประทาน ครั้งละ 2-4 ช้อนโต๊ะ หรือ 4-8 ช้อนแกง

สมุนไพรให้สีแต่งสีอาหาร -คำแสด

คำแสด
ชื่อวิทยาศาสตร์  Bixa orellana  L.
ชื่อสามัญ  Annatto Tree
วงศ์  BIXACEAE
ชื่ออื่น :  คำเงาะ  คำแงะ  คำไทย คำแฝด คำยง  ชาตี  จำปู้  ส้มปู้ (เขมร-สุรินทรฒ) ชาด (ภาคใต้) ซิติหมัก (เลย)  มะกายหยุม แสด (ภาคเหนือ) หมากมอง (ฉาน-แม่ฮ่องสอน)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ต้น พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 3-8 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมหนาทึก แตกกิ่งก้านสาขามาก ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนรอบต้น รูปไข่ โคนใบมน ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบบาง เกลี้ยงนุ่ม สีเขียวเหลือบแดง ใบอ่อนมีสีแดง กว้าง 8-10 ซม. ยาว 11-18 ซม. ดอก ออกเป็นช่อตั้งบริเวณปลายกิ่ง ช่อหนึ่งมี 5-10 ดอก กลีบดอกรูปไข่ยาว สีขาวแกมชมพูหรือสีชมพูอ่อน กลีบรองดอกมีขนาดเล็ก สีเขียว กลีบดอกมี 5 กลีบ ดอกอ่อนจะกลม ผิวสีแดง มีเกสรตัวผู้จำนวนมาก มีเกษรตัวเมีย 1 อัน ภายในมีช่อง 1 ช่อง มีไข่อ่อนจำนวนมาก ผล เป็นรูปสามเหลี่ยมปลายแหลม มีขนสีแดงเข้มหนาทึบคล้ายผลเงาะ ผลแก่จัดแตกออกได้ 2 ซีก ภายในมีเมล็ดกลมเล็กๆ สีน้ำตาลแดงจำนวนมาก เนื้อหุ้มเมล็ดมีสีแดงหรือสีแสด
ส่วนที่ใช้
เมล็ด ดอก ใบ เนื้อหุ้มเมล็ด เปลือก ราก
สรรพคุณ :
  • เมล็ด
    - ให้สารสีแสด ชื่อสาร Bixin
    - ใช้แต่งสีอาหารประเภทไขมัน เช่น ฝอยทอง เนย ไอศครีม
    - ใช้ย้อมผ้าฝ้าย หรือ ผ้าไหมได้ด้วย
    ** องค์การอนามัยโลกกำหนดให้รับประทานสีที่สกัดจากเมล็ดคำแสดได้ไม่เกิน 0.065 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อ 1 วัน
    - มีคุณสมบัติเป็นยาระบายอ่อนๆ ลดไข้ ฝาดสมาน
  • ดอก
    - มีคุณสมบัติเป็นยาบำรุงเลือด แก้โลหิตจาง แก้แสบร้อนคันตามผิวหนัง
    - รักษาโรคไตผิดปกติ แก้บิด แก้พิษ ฝาดสมาน
  • ใบ - แก้ดีซ่าน แก้เจ็บคอ ลดไข้ แก้บิด ขับปัสสาวะ
  • เนื้อหุ้มเมล็ด - เป็นยาระบายและขับพยาธิ แก้โรคผิวหนัง ใช้แต่งสีอาหาร และเนย
  • เปลือกราก - ใช้ป้องกันไข้มาเลเรีย ลดไข้ และโรคหนองใน
สารเคมี : ที่พบ
  • เนื้อหุ้มเมล็ด ให้สีที่เรียกว่า annatto ซึ่งเป็นสีอนุญาตให้ใช้ประกอบอาหารได้ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2515)
    annatto ประกอบด้วยสาร Bixin (C25  H30 O4) สีแสดสด และสาร Bixol (C18  H30 O) สีเขียวเข้ม ใช้แต่งสีอาหารประเภทเนย และเนยเทียม (margarine) สีที่ได้จากเมล็ดคำแสด มีความคงทนและมีสีเข้มกว่าสีที่ได้จากแคโรทีนในต่างประเทศ นิยมใช้กันในผลิตภัณฑ์นม เช่น เนยเหลว เนยแข็ง เป็นต้น นอกจากนั้นยังใช้ผสมในยาขัดหนังที่ให้สีแดงคล้ำ
วิธีเตรียมสีจากเมล็ดคำแสด  : โดยแกะเมล็ดออกจากผลที่แก่จัด แช่น้ำร้อนหมักทิ้งไว้หลายๆ วันจนสารสีตกตะกอน แยกเมล็ดออก นำน้ำสีที่ได้ไปเคี่ยวจนงวดเกือบแห้ง แล้วนำไปตากแดดจนแห้งเป็นผงเก็บไว้ใช้

สมุนไพรให้สีแต่งสีอาหาร -ขนุน

ขนุน
ชื่อวิทยาศาสตร์  Artocarpus heterophyllus  Lam.
ชื่อสามัญ  Jack fruit tree
วงศ์ MORACEAE
ชื่ออื่น :  ขะนู (ชอง-จันทบุรี) ขะเนอ (เขมร) ซีคึย, ปะหน่อย (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)  นะยวยซะ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี)  นากอ  (มลายู-ปัตตานี) เนน (ชาวบน-นครราชสีมา) มะหนุน (ภาคเหนือ,ภาคใต้) ล้าง,ลาน (ฉาน-เหนือ)  หมักหมี้ (ตะวันออกเฉียงเหนือ) หมากกลาง (ฉาน-แม่ฮ่องสอน)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : : ไม้ต้น ขนาดใหญ่ สูง 15 - 30 เมตร ลำต้นและกิ่งเมื่อมีบาดแผลจะมีน้ำยางสีขาวข้นคล้ายน้ำนมไหล ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ แผ่นใบรูปรี ขนาดกว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาว 10 - 15 เซนติเมตร ปลายใบทู่ ถึงแหลม โคนใบมน ผิวในด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน เนื้อใบหนาผิวใบด้านล่างจะสากมือ ดอก เป็นช่อแบบช่อเชิงสดแยกเพศอยู่รวมกัน ดอกเพศผู้เรียกว่า "ส่า" มักออกตามปลายกิ่ง ดอกเพศเมียจะออกตามกิ่งใหญ่และตามลำต้นยอดเกสรเพศเมีย เป็นหนามแหลม การออกดอก จะออกปีละ 2 ครั้ง คือ ช่วงเดือนธันวาคม - มกราคม และเมษายน - พฤษภาคม  ส่วนของเนื้อที่รับประทานเจริญมาจากกลีบดอก ส่วนซังคือกลีบเลี้ยง ผล เป็นผลรวมมีขนาดใหญ่
ส่วนที่ใช้ :
 ยวง เมล็ด แก่นของขนุน ส่าแห้งของขนุน ใบ
สรรพคุณ :
  • ยวงและเมล็ด - รับประทานเป็นอาหาร
  • แก่นของขนุน - ต้มย้อมผ้าให้สีน้ำตาลแก่
  • ส่าแห้งของขนุน - ใช้ทำชุดจุดไฟได้
  • แก่นขนุนหนังหรือขนุนละมุด - มีรสหวานชุ่มขม บำรุงกำลังและโลหิต ทำให้เลือดเย็น สมาน
  • ใบขนุนละมุด - เผาให้เป็นถ่านผสมกับน้ำปูนใสหยอดหู แก้ปวดหู และหูเป็นน้ำหนวก
  • ไส้ในของขนุนละมุด - รับประทานแก้ตกเลือดทางทวารเบาของสตรีที่มากไปให้หยุดได้
  • แก่นและเนื้อไม้ - รับประทานแก้กามโรค

สมุนไพรให้สีแต่งสีอาหาร -กรรณิการ์

กรรณิการ์
ชื่อวิทยาศาสตร์  Nyctanthes arbor-tristis  L.
ชื่อสามัญ  Night blooming jasmine
วงศ์  OLEACEAE
ชื่ออื่น :  กณิการ์ , กรณิการ์
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :  ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 2 เมตร กิ่งเป็นสี่เหลี่ยม มีขนสาก ใบ เดี่ยวเรียงตรงข้าม รูปไข่ กว้าง 2-6 ซม. ยาว 3.5-10 ซม. ปลายแหลมหรือยื่นเป็นติ่งแหลม โคนมน ขอบเรียบหรือจักแหลมใกล้ๆ โคนใบ แผ่นใบหนาสากมือ มีขนแข็งตามแผ่นใบและเส้นใบ ตามขอบใบอาจมีขนแข็งๆ เส้นแขนงใบข้างละ 3-4 เส้น ปลายเส้นจรดกันก่อนถึงขอบใบ ก้านใบยาว 0.5-1 ซม. ช่อดอกออกตามง่ามใบ ก้านช่อดอกยาว 1.2-2 ซม. มีใบประดับรูปคล้ายใบเล็กๆ 1 คู่ที่ก้านช่อดอก แต่ละช่อมี 3-7 ดอก กลิ่นหอม บานตอนเย็นและจะร่วงในเช้าวันรุ่งขึ้น ไม่มีก้านดอก แต่ละดอกมีใบประดับ 1 ใบ ดอกตูมมีกลีบดอกเรียงซ้อนกันและบิดเป็นเกลียว กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน ติดกันเป็นหลอดรูปกรวยปลายตัดหรือหยักตื้นๆ 5 หยัก ด้านนอกมีขน ด้านในเกลี้ยง กลีบดอกโคนติดกันเป็นหลอดสีแสด ยาว 1.1-1.3 ซม. ด้านนอกเกลี้ยง ด้านในมีขนยาวๆ สีขาวที่โคนหลอด ปลายหลอดแยกเป็นกลีบสีขาว 5-8 กลีบ แต่ละกลีบยาว 0.9-1.1 ซม. โคนกลีบแคบ ปลายกลีบกว้างและเว้าลึก เกสรเพศผู้ 2 อัน ติดอยู่ภายในหลอดกลีบดอกตรงบริเวณปากหันด้านหน้าเข้าหากัน ก้านชูอับเรณูเชื่อมเป็นเนื้อเดียวกับหลอดดอก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ กลม มี 2 ช่อง มีออวุลช่องละ 1 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียมีอันเดียว ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มมีขน ผลรูปไข่หรือกลม ค่อนข้างแบน ปลายมีติ่งสั้นๆ
ส่วนที่ใช้
ต้น ใบ ดอก ราก ก้านดอก
สรรพคุณ :
  • ต้น - รับประทานแก้ปวดศีรษะ
  • ใบ -  บำรุงน้ำดี
  • ดอก - แก้ไข้ และแก้ลมวิงเวียน
  • ราก - แก้อุจจาระเป็นพรรดึก บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง แก้ลม แก้ผมหงอกบำรุงผิวหนังให้สดชื่น
  • ก้านดอกสีแดงแสด (สีส้ม) - คั้นเอาน้ำไปทำสีขนมหรือสีย้อมผ้าได้ดี
วิธีและปริมาณที่ใช้ - ใช้ใบสด 1 กำมือ ตำ เติมน้ำคั้นเองาแต่น้ำ 1 ถ้วยแก้ว แบ่งรับประทาน 4 ครั้ง เป็นยาขม เจริญอาหาร
สารเคมี - กลุ่ม
Carotenoid